กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – วิศวะ จุฬา ร่วมกับ กฟผ. การเคหะแห่งชาติ และภาคเอกชนชั้นนำของไทย ผนึกกำลังสู้ PM 2.5 พัฒนาระบบ Sensor for all ระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะ แอพพลิเคชั่นที่คิดค้นโดยคนไทย
นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ Sensor for all ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)จำกัด เพื่อขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับมือและเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศโดยมีข้อมูลสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า โครงการ Sensor for all สอดคล้องกับนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนของ กฟผ.โดยความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ.จะนำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ.มาบูรณาการร่วมกับโครงการ Sensor for all และติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศรวม 200 จุดในบริเวณพื้นที่ กฟผ.และเครือข่าย”ห้องเรียนสีเขียว”ทั่วประเทศ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 12 เครื่องที่สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติและสำนักงานเคหะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจะติดตั้งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป . – สำนักข่าวไทย