กรุงเทพฯ 2 พ.ย. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ รายงานสถิติปี 63 พบปัญหาออนไลน์พุ่งสูงเฉลี่ย 3,742 ครั้งต่อเดือนมากสุดคือ ปัญหาซื้อขายออนไลน์-เว็บไซต์ผิดกฎหมาย
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ รายงานการรับเรื่องร้องเรียนพบว่า มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนผ่านช่องทางสายด่วน 1212, อีเมล 1212@mdes.go.th , เว็บไซต์www.1212occ.com และแช็ตบอต m.me/1212occ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 13 จำนวนรวมกว่า 44,907 ครั้ง เฉลี่ย3,742 ครั้งต่อเดือน โดยปัญหาออนไลน์ที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 20,300 ครั้ง รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 24,209 ครั้ง ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ 90 ครั้ง ข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 57 ครั้ง และปัญหาอื่น อาทิ สอบถามข้อสงสัย 251 ครั้ง
“หากพิจารณาประเด็นที่ร้องเรียนในปัญหาในแต่ละประเภท พบว่า ปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ เรื่องที่แจ้งหรือสอบถามเข้ามามากที่สุดคือ การสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนและหลักฐานการแจ้งเรื่องร้องเรียน รองลงมาคือ ปรึกษาความน่าเชื่อถือของผู้ขาย, ไม่ได้รับสินค้า ถูกหลอกลวง ขณะที่ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง, ขอคำปรึกษาขั้นตอนการแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียน, เนื้อหาลามกอนาจาร ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโปรแกรมไม่พึงประสงค์, ความพยายามบุกรุกเจาะระบบ, ความพยายามรวบรวมข้อมูลของระบบ ข้อสงสัยด้านกฎหมาย ICT ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกฎหมายต่างๆ, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ผู้อำนวยการเอ็ตด้า กล่าว
นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้ห้างร้าน ศูนย์การค้าถูกปิดกิจการชั่วคราว เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต่างนำสินค้ามาขายบนโลกออนไลน์แทน ไม่เว้นแม้แต่สินค้าชุมชน การเกษตร จึงก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งจากความตั้งใจของผู้ขาย อันเนื่องจากมาจากพิษเศรษฐกิจ ที่ต้องหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง และความไม่ตั้งใจ จากความไม่ถนัด ขาดทักษะในการขายของออนไลน์ของผู้ขาย จากปัจจัยข้างต้นนับเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เอ็ตด้าโดย ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ1212 OCC ยกระดับการรับเรื่องร้องเรียนให้มากขึ้น โดยการพัฒนากรอบการทำงานเชิงรุก ให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูลแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว พร้อมนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Social Listening มาใช้เป็นเครื่องมือในการฟังเสียงสะท้อน ความเคลื่อนไหว ข้อร้องเรียน หรือปัญหาบนสื่อสังคมออนไลน์จากผู้ใช้บริการและผู้บริโภคออนไลน์ เพื่อให้การเฝ้าระวังภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น-สำนักข่าวไทย.