กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – เอกชนไทยหวั่นปัญหาขาดแรงงานทำงานในภาคอุตสาหกรรม เสนอภาครัฐเร่งหาทางช่วยภาคเอกชนไทยด่วน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย มีความห่วงใยในสถานการณ์แรงงานของไทยในปัจจุบันมาก หลังจากปัญหาโควิด-19 เกิดขึ้นมา ทำให้แรงงานต่างด้าวจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านกลับประเทศตนเองนับเป็นจำนวนหลายแสนคน แต่หลังจากไทยดูแลและป้องกันปัญหาโควิด -19ได้ดี แต่ภาคอุตสาหกรรมของไทยต่างๆประสบปัญหาหลายด้านรวมไปถึงด้านแรงงานที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปแล้วแต่ไม่สามารถกลับเข้าประเทศไทยได้ เนื่องจากผลกระทบโควิด – 19 จากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆที่มีการระบาดโควิด – 19 เพิ่มขึ้น ทำให้ไทยไม่สามารถเปิดประเทศรับแรงงานต่างด้าวให้กลับมาภาคอุตสาหกรรมต่างๆของไทยได้ จึงเกิดปัญหาขาดแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมในไทยอย่างหนักในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายหน่วยงานจะผ่อนปรนและเปิดโอกาสให้แรงงานไทยที่ว่างงานอยู่ได้หันมาทำงานในภาคอุตสหกรรมให้มากยิ่งขึ้น แต่ในหลายอุตสาหกรรมของไทยแรงงานไทยที่ว่างงานอยู่ยังไม่สนใจที่จะเข้ามาทำงานมากเท่าที่ควร โดยภาคอุตหกรรมที่ต้องการแรงงานมาก เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มถุงมือยาง กลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่จะหาทางกระตุ้นให้แรงงานไทยที่ว่างงานอยู่ให้เข้ามาทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่วิตกหากอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยหันมาเปลี่ยนใช้เครื่องมือแทนคนทั้งหมดต่อไปแรงงานไทยจะยิ่งตกงานเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนอีกต่อไป
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย1.การเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินกรณีว่างงาน 62% (ไม่เกิน 90 วัน) และเลื่อนเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39
2) การขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 2% เพิ่มเติมอีก 3เดือน ตั้งแต่เตือนกันยายน – พฤศจิกายน 2563 การขยายมาตรการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและสามารถทำงานได้ถึง 31 มีนาคม 2565
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้รับทราบข้อเสนอของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมงและข้อเสนอการให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่างโควิด-19 ได้ด้วย.-สำนักข่าวไทย