กรุงเทพฯ 27 ต.ค. นักวิชาการชี้การขยายเครือข่าย 5G ยังเดินหน้า 2 โอเปอเรเตอร์ขยายเกือบครอบคลุมทั่วประเทศรับสถานการณ์การเมืองอาจกระทบความเชื่อมั่นบ้าง
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการ และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการขยายเครือข่าย 5G ในปัจจุบันว่า แม้หลังจากจบการประมูลคลื่น 5G ในช่วงต้นปี สถานการณ์ในประเทศได้พลิกผันจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางการตลาด หรือกำลังซื้อของประชาชนหดหายเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าประมูลคลื่นโดยเฉพาะคลื่นย่าน 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ที่หวังจะเปิดตัว 5G เครือข่ายของตนในช่วงกลางปีพร้อมกิจกรรมแนะนำและการตลาดเครืองลูกข่ายใหม่ที่รองรับ ต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจตามสถานการณ์แต่ในส่วนของการขยายเครือข่ายและติดตั้งสถานีฐาน มีผู้ให้บริการอย่างน้อย2 รายคือ ทั้ง เอไอเอส และทรูมูฟเอช ยังคงดำเนินการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งสองรายสามารถประกาศพื้นที่ครอบคลุมและพร้อมให้บริการ 5G แล้วครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยที่ในช่วงแรก ราวเดือนพฤษภาคมอาจเป็นไปในลักษณะเป็นจุดๆ ในตัวเมือง แต่ ณ ขณะนี้จากข้อมูลของผู้ประกอบการเองและข้อมูลจากผู้ใช้ที่มีการใช้งานและรายงานการทดสอบขึ้นไปยัง แอปพลิเคชั่น NPerf ที่มีการเก็บข้อมูลพื้นที่ครอบคลุมเครือข่ายมือถือระบุว่า 5G ในประเทศไทยขยายครอบคลุมทั้งในตัวเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ต่อเนื่องกับทางหลวงสายสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจไปมากแล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ผู้ให้บริการและ กสทช. กำหนดไว้
“เราอาจจะไม่ค่อยได้ทราบข่าวสารด้านการตลาดหรือโหมประชาสัมพันธ์ถึงการขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ที่รุดหน้าไปมากจากเอกชนในตลาด เหมือนตอน 4G หรือช่วงที่สถานการณ์ปรกติ แต่ ณ ขณะนี้เอกชนทั้งสองรายเดินหน้าขยายพื้นที่ครอบคลุม 5G แล้วอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวยังคิดว่าขยายพื้นที่ได้เร็วกว่าที่คาดหวังไว้ด้วยซ้ำแม้มีปัญหาอุปสรรคทั้งด้านการลงทุน และกำลังซื้อหรือการตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องใหม่มารองรับ 5G ของลูกค้าอาจจะชลอตัว ซึ่งอาจมองได้ว่าผู้ให้บริการยังมองตลาดและการขยายตัวของการใช้ 5G ในอนาคตจะกลับมาและเป็นที่ต้องการเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย ซึ่งเมื่อนั้นเชื่อว่า 5G จะครอบคลุมเกือบๆ 4G ในปัจจุบันพอดี อีกทั้งนับแต่ปลายไตรมาสสามต่อเนื่องไตรมาส 4 เริ่มเห็นสัญญาณของการเปิดตัวมือถือ 5G รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นหลายแบรนด์ที่มีราคาถูกลง จับต้องได้ รวมถึงแบรนด์หลักๆ อย่างไอโฟน ที่รองรับ 5G ต้นปีหน้าเราคงจะเห็นทั้งความพร้อมด้านเน็ตเวริ์ค 5G และเครื่องลูกข่าย 5G และผู้ใช้บริการจะให้ความสนใจอยากสัมผัสเทคโนโลยี 5G กันเพิ่มมากขึ้น”
สืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า การใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G จะไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจมือถือหรือการขายเครืองมือถือรุ่นใหม่ๆ เท่านั้น 5G คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างการพัฒนาใหม่ๆ ทั้งการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ การเกษตร สังคมการศึกษา ความมั่นคงปลอดภัย สิ่งสำคัญคือต้องหาวิธีและเทคโนโลยีรวมถึงสร้างบริการที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G ที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้า 2564 หลังเครือข่าย 5G ครอบคลุมและมีความพร้อมเกือบเต็มที่ จะเห็นภาพผนวกรวมและการใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างชัดเจน
สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมฯ กล่าวว่า เรื่องผลกระทบกับผู้ประกอบการมีผลกระทบบ้าง แต่ผู้ให้บริการยังคงลงทุนโครงข่ายใหม่ 5G ในอีกมุมผลกระทบทางเศรษฐกิจกระทบกับฝั่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดหวังให้ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ บน 5G เพื่อใช้งานชัดเจน อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต อย่างโรงงานต่างๆ ที่เดิมสนใจปรับสายการผลิตใหม่ ลงเทคโนโลยีใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตต่างชลอการปรับสายการผลิตแทบทั้งหมด หรือภาคขนส่ง ภาคท่องเที่ยว ที่เดิมถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของลูกค้า 5G เช่นกัน อาทิ จากนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาใช้หรือบริการออนไลน์ที่เกี่ยวเนื่องก็ชลอตัวไป ส่วนเรื่องการเมือง แม้ปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยาย 5G หรือแต่กระแสของผู้ใช้ในตลาดแต่หากสถานการณ์การเมืองไม่สู้ดีหรือขยายไปสู่ความรุนแรง กระทบธุรกิจ หรือต้องมีการปิดบริการหรือกิจการแบบระยะยาวก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อแผนการตลาดหรือกิจกรรมโปรโมท หรือสร้างการรับรู้ 5G ที่ก็อาจขยับเพื่อรอสถานการณ์พร้อมเช่นกัน-สำนักข่าวไทย.