กรุงเทพฯ 21 ต.ค.สดช. ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่ง ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เป็นร้อยละ 11 หลังอันดับความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น1 ระดับ
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า หน่วยงานมีภาระกิจสำคัญ ได้แก่ 1. การทำเรื่องความปลอดภัยการขับเคลื่อนดิจิทัล ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล การพัฒนากำลังคน รัฐบาลด้จิทัล และการสร้างความเชื่อมั่น 2.เป็นเลขาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการ 5จี และ3.กองทุน ซึ่งกองทุนมีให้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงมีหน่วยงานตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ เพราะมองว่าไม่มีทางที่จะมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเห็นการเริ่มเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน อาทิ หลายส่วนราชการพัฒนามาให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปรับบริการผ่านสาขาตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น โดยมองว่าดิจิทัลจะสร้างคุณค่าและประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับคนที่รู้เท่าทันและใช้ประโยชน์ได้
นางวรรณพร กล่าวว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือนำมาทำให้เกิดการเชื่อมต่อกระบวนการ และทำงานได้เร็วขึ้น มองว่าการเชื่อมต่อกระบวนการเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่เศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดรายได้มหาศาลในประเทศไทย โดยได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ5จี ได้หารือกันในส่วนของวิธีการเดินทางของ 5จีต่อไป หลังจากมีการประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการ (โอเปอร์เรเตอร์) จะต้องนำคลื่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งความแข็งแรงของประเทศไทยอยู่ในภาคการเกษตร และเกษตรกรกว่าร้อยลั 80อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยหน่วยงานได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในการประเมินกระบวนการทำงาน อาทิการทำแปลงผัก ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีแดดส่องหรือปริมาณน้ำมากในส่วนใดบ้าง จึงจะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ โดยจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาสู่การทำปัญญาประดิษฐ์ต่อไป ซึ่งการลงทุนโครงข่าย 5จี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องลงทุนสูง แต่รัฐก็ลงทุนและร่วมมือกับผู้ให้บริการต่อไป ซึ่งโครงการเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถเพิ่มรายได้มากขี้น และลดจำนวนแรงงานคน
นางวรรณพร กล่าวว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (IMD) ล่าสุดประเทศไทยมีอันดับปรับเพิ่มขึ้นมา 1 อันดับ จากอันดับที่ 40 มาอยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งเป็นผลจากความเร็วอินเตอร์เน็ตปรับขึ้นมาดีขึ้น เพราะมีการส่งเสริมเน็ตประชารัฐ และด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทำให้การส่งเสริมนำดิจิทัลไปใช้ในหัวเมืองต่างๆ ปรับขึ้นมาดีขึ้นกว่า8 อันดับ ทำให้เห็นว่า การทำของประเทศไทยถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะประเทศอื่นในสากล ให้ความยอมรับว่าประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น โดยในอนาคตคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยที่แบ่งสัดส่วนมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงที่ยังไม่ได้เกิดการระบาดโควิด-19 แต่หลังมีการระบาดเข้ามา ก็มองว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9-10 โดยเชกเตอร์แรกที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้มากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมการค้า และท่องเที่ยว ตามลำดับ
“ในฐานะภาครัฐ มีการมองการพัฒนาในทุกส่วนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรากหญ้า ซึ่งมีศูนย์ดิจิทัลชุมชนกว่า 2,200 แห่งทั้วประเทศ ในปี 2563 ได้งบประมาณมาพัฒนาศูนย์ 250 แห่ง ดูแล 3 ปี ปี 2564 อีก 250 แห่ง และปี 2565 อีก 270 แห่งเฉลี่ยจังหวัดละ 10 แห่ง โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะมีคอมพิวเตอร์ให้บริการ และมีจัดโซนสตูดิโอไว้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถถ่ายรูป และนำรูปประกอบการจำหน่ายสินค้าด้วย เป็นการร่วมมือกับทั้งระหว่างรัฐเองและเอกชนด้วย” นางวรรณพร กล่าว
นางวรรณพร กล่าวว่า ภาครัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยอุตสาหกรรมอวกาศจะต้องขยายเพิ่มเติม นอกเหนือจากดาวเทียม แต่หมายถึงดาวเทียมระพับล่าง ที่ทำเรื่องวิเคราะห์ และวิจัย เพื่อจัดเก็บข้อมูลได้ ในส่วนของข้อมูล (เดต้า) มองว่าข้อมูลในส่วนของภาครัฐ เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทุกกระทรวงจะต้องจัดทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงจัดประเภทข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกจัดกลุ่มว่า สามารถเปิดเผยได้ หรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งจะต้องแยกอีกว่าเป็นความลับขั้นใด เพื่อให้จัดกลุ่มข้อมูล และใช้งานร่วมกันได้ แต่การจัดเก็บข้อมูลขะต้องมีความปลอดภัยสูงที่สุด เพื่อนำไปสู่การทำศูนย์ข้อมูล (เดต้า เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนี้มีต่างชาติหลายประเทศ ที่ต้องการเข้ามาทำเดต้า เซ็นเตอร์ใยประเทศไทย ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ จะต้องย้อนกลับไปที่คนว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้หรือไม่ เพราะหากมีเทคโนโลยี มีข้อมูลแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง โดยปัญหาของภาครัฐคือ ในระยะเริ่มต้นจะต้องหาวิธีในการทำให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดใช้งานร่วมกันได้ให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้แหล่งการเก็บข้อมูลกลายเป็นสุสานข้อมูลในอนาคต-สำนักข่าวไทย.