กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- ดีอีเอส เปิดเผยยอดโพสต์เว็บไม่เหมาะสมช่วงชุมนุม 3.2 แสนเรื่อง รวมกว่า 1.6 ล้านข้อความ เล็งเก็บข้อมูลต่อดำเนินความผิดคนโพสต์
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมว่า ตั้งแต่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค. ได้ตรวจสอบผลข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวนกว่าล้านข้อความ เมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวน 322,990 เรื่อง จากข้อความที่ตรวจพบล่าสุด 1.6 ล้านข้อความ แบ่งเป็นทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง เฟซบุ๊ก 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะเน้นการดำเนินการกับผู้นำขึ้นข้อความบนสื่อออนไลน์คนแรกหรือผู้โพสต์คนแรกก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Pavinchachavalpongpun” และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ,เพจเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำมวลชนรวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงดีอีเอส จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อไป
ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูลรีทวิต ที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที ทั้งนี้ พบว่ามีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กำชับและมีความห่วง่ใย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด และขอฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูล รีทวิตที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที .-สำนักข่าวไทย