กรุงเทพฯ9 ต.ค. ที่ประชุม รมว.ดิจิทัลอาเซียนยึด4แนวทางรับมือภัยคุกคามไซเบอร์
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 5 ว่าการประชุมมีรัฐมนตรีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปองค์การสหประชาชาติ โดยที่ประชุมได้หารือถึงการต่อยอดผลการศึกษาจากการประชุม AMCC ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2562 โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศซึ่งเป็นฐานรากสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมทั้ง การยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอาเซียน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII Protection) ของไทย โดยเน้นย้ำถึงการศึกษาเรื่อง ASEAN CII Protection Framework ที่จะสามารถสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะการตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯยังได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงอย่างสั้นเพื่อผลักดันให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในความปกติใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลผ่านการต่อยอดและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ของภูมิภาคอาเซียน เช่น ศูนย์ ASEAN – Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) กับศูนย์ASEAN – Singapore Cybersecurity Centre of Excellence (ASCCE) เพื่อรองรับความต้องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภูมิภาคการประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
ที่ประชุมฯ ได้ให้ความสำคัญในหลัก “4P” ในการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือ “Principle” ความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามบรรทัดฐานของรัฐบนโลกไซเบอร์ เพื่อให้การใช้พื้นที่ บนโลกไซเบอร์เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย “Practice” การแปลงนโยบาย/หลักการสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม “Process”กระบวนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามบรรทัดฐาน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค “People Partnership and Pandemic” การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมต่อการปฏิบัติตามบรรทัดฐานขององค์การระหว่างประเทศโดยการศึกษา ปรับปรุงกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานดังกล่าว พร้อมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนความร่วมมือ กับประเทศคู่เจรจาหรือองค์กรภายนอก เพื่อรับมือกับโลกไซเบอร์ต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันอย่างเป็นองค์รวม และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด –19-สำนักข่าวไทย.