กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – กรมชลฯ สั่งทุกโครงการเก็บกักน้ำจากฝนที่จะตก 7-9 ตุลาคมนี้ พร้อมวอนเกษตรกรงดทำนาปี 63 ต่อเนื่อง เหตุน้ำในเขื่อนน้อย หวั่นผลผลิตเสียหาย จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทานรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางและมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นวันนี้ (6 ต.ค.) ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมนั้น จึงสั่งการให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์
ตลอดจนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ ตรวจสอบอาคารชลประทานในพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
นายสัญญา กล่าวต่อว่า ฝนที่จะตกลงมาทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำและแก้มลิงต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งกำชับให้เก็บกักไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนเหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำรวมกัน 11,663 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ 4,967 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดไว้ว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ก่อนที่ฝนจะเลื่อนลงไปสู่ภาคใต้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้วให้งดทำนาปีต่อเนื่อง สำรองน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด เพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งปี 2563/2564 เนื่องจากน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย