กรุงเทพฯ 5 ต.ค. กสทช. มีแผนคุมค่าบริการมือถือนอกโปร เปิดรับฟังความเห็นถึง 19 ต.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลักหรืออัตราค่าบริการนอกโปร ตั้งเป้าคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ถูกคิดค่าบริการนอกโปรในอัตราที่สูงเกินควร รวมทั้งลดผลกระทบจากปัญหา Bill Shock ผู้บริโภค-นักวิชาการต่างประสานเสียงเห็นด้วยในหลักการที่ กสทช. ต้องกำกับดูแล แต่กังขาว่าค่าบริการที่กำหนดนั้นยังคงสูงเกินไป และผู้ให้บริการอาจผลักภาระทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดค่าบริการนอกโปรได้ไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ดังนี้ บริการเสียงไม่เกิน 1.60 บาท/นาที บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 2.50 บาท/ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 4.50 บาท/ข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.90 บาท/เมกะไบต์ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งหมายความว่ารายการส่งเสริมการขายที่กำหนดขึ้นใหม่หลังวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ค่าบริการนอกโปรจะต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงดังกล่าว ขณะที่รายการส่งเสริมการขายใดที่มีการกำหนดราคานอกโปรเกินกว่าอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ก็ยังสามารถเรียกเก็บค่าบริการต่อไปได้จนกว่าระยะเวลาตามสัญญาของรายการส่งเสริมการขายนั้นสิ้นสุด ส่วนรายการส่งเสริมการขายที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการไว้ ก็สามารถเรียกเก็บได้ไม่เกิน 270 วันนับแต่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
นายโสภณ หนูรัตน์ ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เห็นด้วยที่ กสทช. ต้องกำกับอัตราค่าบริการนอกโปร และควรต้องกำกับในทุกบริการ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการของการคิดค่าบริการในโปร ผู้ให้บริการก็คิดรวมทั้งต้นทุนและกำไรไว้อยู่แล้ว การคิดค่าบริการนอกโปรก็ควรอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ไม่ควรมีราคาที่แตกต่างกันมาก และต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักด้วย และที่สำคัญการกำกับอัตราค่าบริการนอกโปรของ กสทช. ต้องไม่ทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้น เพราะจะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่างประกาศเพื่อต้องการลดกระทบจากปัญหา Bill Shock แต่อัตราที่กำหนดในร่างประกาศยังคงเป็นอัตราที่สูง อย่างเช่นอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตนอกโปรที่จะคิดราคา 0.90 บาท/เมกะไบต์ หากเดือนไหนผู้บริโภคใช้หลุดโปรแค่ 1 กิกะไบต์ (Gb) ประมาณดูละครได้ 1 ตอน ก็เท่ากับต้องเสียค่าบริการเพิ่มถึง 900 บาท และในอนาคตที่เรากำลังเข้าสู่ยุค 5G ปัญหาการหลุดโปรก็จะเกิดง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีเรื่องการคิดค่าบริการผู้ให้บริการต้องอยู่ได้คือเป็นการสร้างสมดุคทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้ให้บริการเรื่องค่าบริการถ้าถามประชาชนก็จะอยากได้ถูกอย่างเดียวแต่ในแง่การลงทุนของผู้ประกอบการมีต้นทุนของธุรกิจจากการประมูลคลื่นความถี่ และการขยายเครือข่ายที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มจำนวนมากย่อมมีความคาดหวังในการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงควรกติกาที่ทุกฝ่ายพอใจและสร้างสมดุลให้ผู้ใช้บริการไม่เป็นภาระผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับประโยชน์ของผู้บริโภคโดยตรง โดยสำนักงาน กสทช. จะยังเปิดรับความคิดเห็นเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ผู้บริโภคสามารถนำส่งความเห็นมาได้ที่อีเมล์ telco.tariff@nbtc.go.th ตั้งชื่อเรื่อง “แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก” รวมทั้งสามารถนำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ที่สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. 87 ซอยพหลโยธิน 8 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 วงเล็บมุมซองว่า “แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก”-สำนักข่าวไทย.