บทความพิเศษ ตอนที่ 3 โดย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายท่านคงจะได้ทราบถึงการแถลงข่าวของสภาพัฒน์ฯ ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ได้หดตัวลงอย่างรุนแรง โดย GDP ติดลบถึงร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา…
การที่เศรษฐกิจหดตัวลงเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่พอจะคาดเดาได้ เพราะการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นมาตราการที่ใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก และย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม มากบ้างน้อยบ้างตามความเข้มข้นของมาตรการ ตามที่แสดงในภาพประกอบ…
แต่สิ่งที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ คือ การหดตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่สูงถึงร้อยละ 12.2 นั้น นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เราเริ่มมีการเก็บตัวเลขดัชนีตัวนี้…
เราลองมาดูกันว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวไปแล้วเท่าใด… ขนาดของ GDP หรือผลผลิตมวลรวมของไทยในปี 2562 มีขนาดประมาณ 17 ล้าน ๆ บาท ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ หดตัวลดลงร้อยละ 12.2 ก็หมายความว่า เศรษฐกิจได้หดตัวไปแล้วเกือบ “2 ล้านบาท” ในชั่วเวลาเพียงหนึ่งไตรมาส หรือสามเดือน !!
แล้วตัวเลข 2 ล้าน ๆ บาทมีขนาดใหญ่เพียงใด ?
ถ้าเทียบกับงบประมาณของประเทศไทยสำหรับปี 2564 ซึ่งมีขนาดเพียงประมาณ 3 ล้านล้านบาทเศษแล้ว จะเห็นว่าการหดตัวของขนาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสเดียว ก็ใหญ่เกือบจะเท่ากับงบประมาณทั้งปี 2564 แล้ว และถ้ายิ่งเปรียบเทียบกับงบประมาณรายปีของกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1.4 แสนล้านบาทด้วยแล้ว จะเห็นว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของไทยได้ระเหยไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ประเทศ….
ขณะเดียวกันปี 2562 ทั้งปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 2 ล้าน ๆ บาท และเรามีรายได้จากคนไทยเที่ยวไทยกันเองอีกราว 1 ล้าน ๆ บาท ซึ่งปัจจุบันทั้งสองส่วนเหลืออยู่น้อยมากแล้วจากผลของล็อกดาวน์…
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะได้ยินเสียงร้องถึงความทุกข์ยากจากคนไทยในทุกภาคส่วนในขณะนี้…
จากตัวเลขข้างต้น คงจะเห็นถึงขนาดของความถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่เราได้ใช้แลกไปแล้ว กับสุขภาวะในปัจจุบัน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง…
ถ้าจะถามว่าสิ่งที่ได้แลกไปแล้วนั้นคุ้มค่าหรือไม่ คงจะไม่มีใครตอบได้และอาจจะเป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบ… แต่ถ้าจะถามใหม่ว่าเราจะแลกต่อไปได้อีกนานเท่าใด… คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามบังคับ ใครสักคนคงจะต้องตอบและต้องตอบโดยเร็ว เพราะว่าจากตัวเลขข้างต้นฟ้องว่า เราเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วที่จะต้องตอบคำถาม ….ก่อนที่……….
….บทความพิเศษ โดย “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธาน คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ……………..