บทความพิเศษ ตอน 2
ในสมัยพุทธกาล หลังจากพระศาสดาทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาน ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิแล้ว พระองค์ได้ทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้นอยู่อีกระยะหนึ่ง เพื่อทรงพิเคราะห์ถึงสัจจธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้มาว่าเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งจนมนุษย์ทุกคนอาจจะไม่สามารถจะหยั่งรู้ได้หมด แต่ในที่สุดด้วยพระกรุณาธิคุณของพระบรมศาสดา ท่านได้ตัดสินพระทัยประกาศพระศาสนา เพื่อช่วยให้เวไนยสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์ อย่างที่พวกเราชาวพุทธทุกคนรู้กันแล้ว…
ต่อมาหลังที่พระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพาน พุทธบริษัทและพระมหาสาวกทั้งหลาย ก็ได้จัดให้มีการทำสังคายนาขึ้น เพื่อให้ศาสนามีความมั่นคงสืบต่อไปจนถึงคนรุ่นหลัง
แต่ในการทำสังคายนาครั้งนั้น ก็มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งเกิดขึ้น ก็คือการที่พระศาสนาได้แตกแยกออกเป็นสองนิกายใหญ่ตามที่เรารู้จักกัน ก็คือ มหานิกาย (มหายาน, ยานลำใหญ่) กับเถรวาท (หินยาน, ยานลำเล็ก) โดยมีเหตุมาจากการที่พระพุทธศาสนาเป็นธรรมะขั้นสูง ดังนั้น จึงมีคนเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ที่พอจะมีปัญญาเข้าถึงคำสอนของพระศาสดาจนบรรลุมรรคผลได้ พุทธบริษัทที่ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติสายนี้อย่างเคร่งครัด จึงกลายเป็นคนส่วนน้อยและถูกเรียกว่าพวกนิกายเถรวาท หรือหินยาน (ยานลำเล็ก) เพราะพาคนไปได้ทีละน้อย…
ในทางตรงกันข้าม เพื่อจะไม่เป็นการปฏิเสธ หรือปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาในพระศาสนา แต่ยังไม่สามารถเข้าใจในธรรมขั้นสูงได้ ซึ่งเป็นคนหมู่มากให้มีความหวังในการประพฤติปฏิบัติธรรม จึงได้แยกออกไปเป็นอีกหนึ่งนิกายที่เรียกว่า มหายาน หรือยานลำใหญ่ ที่พาคนไปได้ครั้งละมาก ๆ…
ที่ได้กล่าวถึงเรื่องพุทธศานาสองนิกายมาเสียยืดยาวนี้ก็เพราะว่า เมื่อดู ๆ แล้ว เรื่องราวของโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ ดูแล้วชักจะคล้าย ๆ กับเรื่องศาสนาพุทธสองนิกายที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 2,500 ปีที่แล้ว….
ประเทศไทย… เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเลยมาเป็นเวลานานแล้ว และกำลังค่อย ๆ กลายเป็นคนกลุ่มน้อยในโลก ที่แตกต่างและปิดกั้นตัวเองออกจากจากคนส่วนใหญ่ เพราะกลัวการระบาด…
ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการระบาดของโรคในหมู่คนส่วนใหญ่ พร้อม ๆ กับมีการเพิ่มขึ้นของภูมิต้านทานหมู่ในประชากร รับกับการพัฒนาวิธีการรับมือกับโรคร้าย และการค่อย ๆ เปิดประเทศเพื่อการค้าและการเดินทาง เพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปรกติ….
ขณะนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทย รัฐบาล ศบค. ฯลฯ จะต้องมาเริ่มคิดใหม่ว่า เส้นทางเดินไปข้างหน้าของไทยจะไปทางไหน ?
เราจะยึดมั่นในแนวทางของยานลำเล็ก แล้วฝากความหวังทั้งหมดไว้กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เช่น วัคซีน หรือยาวิเศษ ฯลฯ หรือไม่..
แน่นอนว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าการไม่ตัดสินใจก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง….
บทความพิเศษ โดย “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธาน คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน . – สำนักข่าวไทย