กรุงเทพฯ 2 ต.ค. เอ็ตด้าประกาศแนวปฏิบัติการป้องกัน รับมือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ สำหรับหน่วยงานรัฐ
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้ากล่าวว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ออกประกาศสำนักงานฯ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับมือเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์เกี่ยวกับมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) สำหรับหน่วยงานรัฐ เพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการรับมือ ป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) โดยประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหารายละเอียด 2 ส่วน ส่วนแรก: มาตรการพื้นฐาน 8 เรื่องสำคัญ สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ กรณีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ สำหรับหน่วยงานของรัฐ การจัดทำหรือทบทวนแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงาน ให้ครอบคลุมการสำรองข้อมูล การควบคุมการเข้าถึงเครือข่ายและระบบสารสนเทศ และการประเมินความเสี่ยง
การสำรองข้อมูลที่สำคัญ ควรจัดทำอย่างน้อย 2 เวอร์ชัน ไว้ในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ไม่เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ยกเว้นเวลาสำรองข้อมูล และในการสำรองข้อมูลแต่ละเวอร์ชันให้มีการจัดเก็บลงในอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน การทดสอบการกู้คืนข้อมูลที่สำรองเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำมาใช้งานได้เมื่อต้องการ การควบคุมการเข้าถึงเครือข่าย และระบบสารสนเทศแยกส่วนเครือข่าย (Network segregation) ของระบบสารสนเทศตามรูปแบบการให้บริการ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่กระจายมัลแวร์ผ่านเครือข่าย การทบทวนการกำหนดสิทธิการเข้าถึงเครือข่าย และระบบสารสนเทศ ตามความจำเป็นและ การแบ่งแยกหน้าที่ (need to know, least privilege, separation of duties) รวมถึงควรตั้งค่าควบคุมในลักษณะการอนุญาตให้ใช้งานตามรายการสิทธิที่กำหนดไว้เท่านั้น (whitelisting) การกำหนดให้มีการยืนยันตัวตน (authentication) ตามสิทธิในการเข้าถึงเครือข่าย และระบบสารสนเทศ โดยไม่อนุญาตให้แชร์บัญชีผู้ใช้งาน
สำหรับประเมินความเสี่ยงด้านระบบสารสนเทศ ให้จัดทำหรือทบทวนทะเบียนสินทรัพย์ (inventory of asset) รวมถึงข้อมูลที่สำคัญในการให้บริการ , จัดทำหรือทบทวนแผนผังการเชื่อมต่อเครือข่าย และระบบสารสนเทศที่ให้บริการ , จัดทำข้อมูลการติดต่อสำหรับผู้ดูแลหรือผู้ให้บริการสินทรัพย์ และเครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่ต้องการประสานการแก้ไขปัญหาหรือรับมือสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น , ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับการให้บริการ เพื่อพิจารณาช่องทางสำรองสำหรับให้บริการ กรณีที่ช่องทางหลักได้รับผลกระทบ , จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการให้บริการช่องทางสำรอง
การจัดเก็บบันทึกกิจกรรม (log) ไปยังพื้นที่จัดเก็บในส่วนกลางที่มีการควบคุมการเข้าถึงอย่างรัดกุม เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลง โดยบันทึกกิจกรรมควรครอบคลุม โดยข้อมูลการใช้งานระบบสารสนเทศ เช่นapplication log ส่วนข้อมูลการเชื่อมต่อทางเครือข่ายหรือระบบป้องกันการโจมตีทางเครือข่าย เช่น firewall log, intrusion protection system (ips) log ข้อมูลบันทึกกิจกรรมของระบบปฏิบัติการ เช่น event log, system log, security log, audit log และการจัดเก็บข้อมูล log ควรมีระยะเวลาในการจัดเก็บที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้งานภายหลัง ทั้งนี้ อาจพิจารณากำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บตามหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการโดยอนุโลม
การทบทวน และยกเลิกบริการที่ไม่จำเป็นบนเครื่องให้บริการ การกำหนดเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับบริหารกับระดับปฏิบัติการ เพื่อประสานงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การให้ความรู้กับผู้ใช้งานในหน่วยงานเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการติดมัลแวร์เรียกค่าไถ่ โดยอาจใช้สื่อประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์ไทยเซิร์ต
นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการดูแลบริการที่สำคัญ โดยการสำรองข้อมูลในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ควรมีการเข้ารหัสลับเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์กรณีที่อุปกรณ์นั้นสูญหาย รวมถึงควรพิจารณานำอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่สำรองข้อมูลแล้วไปเก็บยังนอกพื้นที่หน่วยงาน การป้องกันการติดมัลแวร์ ให้ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับมัลแวร์บนเครื่องให้บริการ และเครื่องผู้ใช้งาน ทำการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ใช้ให้บริการเป็นเวอร์ชันล่าสุด ทั้งนี้ให้ใช้ระบบป้องกันการโจมตีทางเครือข่าย เช่น intrusion protection system (ips) และตรวจจับพฤติกรรมของมัลแวร์ด้วยระบบหรือกลไกที่เหมาะสม เช่น การตรวจสอบการเชื่อมต่อทางเครือข่ายของเครื่องคอมพิวเตอร์ไปยังไอพีแอดเดรสหรือโดเมนของเครื่องควบคุมมัลแวร์ (command and control server) การตรวจสอบค่าแฮชของไฟล์มัลแวร์
ควรตรวจสอบความผิดปกติของรายการบัญชีผู้ใช้งาน และข้อมูลบันทึกกิจกรรม (log) อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสอบช่องโหว่ (vulnerability assessment) ของระบบสารสนเทศ หรือซอฟต์แวร์ที่ให้บริการ อย่างสม่ำเสมอ และให้รีบแก้ไขช่องโหว่ทันทีหากพบว่าเป็นความเสี่ยงที่รุนแรง การลงทะเบียนเพื่อขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับข้อมูลแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและตรวจจับภัยคุกคาม ทางอีเมล thaicert-gms@thaicert.or.th
แนวทางส่วนที่สอง: แนวทางการดำเนินการรับมือสถานการณ์ กรณีหน่วยงานของรัฐพบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ตัดการเชื่อมต่อทางเครือข่าย สำหรับ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ เพื่อป้องกันการกระจายของมัลแวร์ไปยังระบบสารสนเทศอื่น ระบบสำรองข้อมูล รวมถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก เพื่อป้องกันข้อมูลสำรองถูกเข้ารหัสลับระบบสารสนเทศที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เพื่อป้องกันการกระจายของมัลแวร์ไประบบดังกล่าว การสำรองข้อมูลที่ยังใช้งานได้อยู่จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ ไปยังอุปกรณ์บันทึกข้อมูลภายนอก ซึ่งไม่ควรเป็นอุปกรณ์เดียวกับที่ใช้สำรองข้อมูลตามปกติ
นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐควรมีการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ แจ้งเหตุไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และไทยเซิร์ต (ทางอีเมล report@thaicert.or.th) เปลี่ยนรหัสผ่านที่เกี่ยวข้องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ รวมถึงรหัสผ่านที่ใช้งานผ่านระบบควบคุมบัญชีผู้ใช้งานทั้งหมด ตรวจสอบสายพันธุ์ของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ โดยอาศัยข้อมูลที่ปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ เช่น นามสกุลของไฟล์ที่เปลี่ยนไป ข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอในการเรียกค่าไถ่ เพื่อประเมินวิธีการแก้ไขปัญหา เช่น การกู้คืนข้อมูล ทั้งนี้หากมีความประสงค์ในการใช้เครื่องมือถอดรหัสลับข้อมูล ควรทำในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการเชื่อมต่อทางเครือข่าย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว-สำนักข่าวไทย.