สธ.18 ก.ย.-“อนุทิน”เผยคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องฉายรังสีวงเงิน 878.2 ล้านบาทให้แก่ รพ. 7 แห่ง ช่วยผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นในสถานการณ์โควิด ลดความเสี่ยงการติดเชื้อขณะผ่าตัดและพักฟื้น บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงน้อยลง พร้อมลดเวลารอคอยและความแออัด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้พิจารณาผ่านโครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสี (Linac) สำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด- 19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 878.2 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ให้แก่โรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ถัดไป
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ต้องเสนอโครงการดังกล่าวเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ผู้ป่วยมะเร็งยังต้องได้รับการรักษา หากเลื่อนการรักษาจะส่งผลให้โรคลุกลามรุนแรงมากขึ้น ไม่สามารถหายขาดได้ ขณะเดียวกันสถานพยาบาลต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผู้ป่วยรูปแบบใหม่หรือ New Normal ด้วยการฉายรังสีเทคนิคชั้นสูงทดแทนการผ่าตัดได้ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งที่มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนทั่วไป การฉายรังสีจึงเป็นทางเลือกการรักษาที่ปลอดภัย ใช้เวลาครั้งละไม่เกิน 10 นาที จากการผ่าตัดที่ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง จึงช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยจากการอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ไม่ต้องพักฟื้นในหอผู้ป่วยระหว่างและหลังรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาล สร้างความปลอดภัยของบุคลากรต่อการสัมผัสเชื้อโควิด 19 อย่างไรก็ตาม เครื่องฉายรังสียังมีไม่เพียงพอ แม้ในสถานการณ์ปกติก็เกิดการสะสมของผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีระยะเวลารอคอยการรักษามากกว่า 4 เดือน จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการให้บริการ
“โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีให้แก่โรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งนี้ ช่วยเพิ่มความสามารถการให้บริการแก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น รักษาคนไข้ได้ปีละ 500-700 ราย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทำให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถรักษาได้กับทุกอวัยวะ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด- 19 จากการที่อยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยสามารถมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรือในเขตภูมิภาค สามารถลดระยะเวลารอคอยการรักษามะเร็ง โดยใช้การฉายรังสีด้วยเทคนิคที่ทันสมัยทดแทนการผ่าตัด ลดการเสียชีวิตจากมะเร็งในประเทศไทย เนื่องจากได้รับการรักษาในระยะเวลาที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการสัมผัสเชื้อโควิด- 19 ในระยะประชิดจากกระบวนการผ่าตัด และลดปัญหาการติดเชื้อโควิด -19 ของผู้ป่วยที่ต้องเดินทาง” นายอนุทินกล่าว.-สำนักข่าวไทย