สำนักข่าวไทย 31ส.ค.- ผอ.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค แจงผล ส่งทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สอบเหตุเด็กหญิงวัย 11 ปี รับ วัคซีน HPVเสียชีวิตแล้ว พร้อมตรวจสอบคุณภาพวัคซีน เบื้องต้น พบการเก็บรักษาวัคซีนอยู่ในเกณฑ์มีคุณภาพ แต่ทั้งหมดต้องส่งเรื่องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาประกอบ คาดทราบผล 2-3สัปดาห์
พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 11 ปี จากการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ( HPV) ว่า ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ทั้งสอบสวนซักประวัติผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่เสียชีวิต รวมถึงการติดตามประเมินคุณภาพของวัคซีนที่ให้ว่ามีห่วงโซ่ความเย็น และการเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เบื้องต้นพบวัคซีน มีประสิทธิภาพดี ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ร่วมกับผลการชันสูตรศพ เพื่อพิจารณาว่าการรับวัคซีน HPV นี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่ คาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ทราบผล
พญ.สุชาดา กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าวัคซีน HPV นี้ มีความปลอดภัยสูงและใช้กันทั่วโลก โดยประเทศไทย เริ่มมีการทดลองนำร่องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในปี 2014 หรือ ปี2557 ในบางพื้นที่ จากนั้นเมื่อพบว่ามีความปลอดภัยจึงขยายฉีดทั่วประเทศในปี 2560 คาดว่ามีเด็กหญิงได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้ไปกว่า1.6 ล้านคนแล้ว และที่ผ่านม่าไม่พบการรายงานถึงการเสียชีวิตจากการรับวัคซีน มีแต่รายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนเท่านั้น ได้แก่ อาการไข้ ต่ำ เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก แต่ทราบว่าสำหรับเด็กหญิงคนดังกล่าวที่เสียชีวิต มีอาการไข้ต่ำก่อนได้รับวัคซีน เมื่อฉีดไปจึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอการสอบสวนจากผู้เชี่ยวชาญ ถึงสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาการไข้ ที่ปรากฎแสดงว่าน้องอาจมีอาการป่วยด้วยโรคอื่นอยู่ เมื่อได้รับวัคซีนเข้าไปอีก จึงต้องรอดูสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนการสอบสวนโรค ยังได้ขยายคลุมไปในเพื่อนนักเรียนที่ได้รับวัคซีนด้วยกันอีก 4 คน เพราะวัคซีน 1 ขวดสามารถฉีดให้เด็กได้ถึง 5 คน ก็ไม่พบปัญหา และรอผลการตรวจสอบวัคซีนในลอตเดียวกัน ที่ฉีดให้ในแต่ละจังหวัดมาประกอบการสอบสวนโรคได้วย
พญ.สุชาดา กล่าวว่า สำหรับผู้ปกครองที่มีความกังวลไม่สบายใจ เกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถให้เด็กชะลอการรับวัคซีนออกไปก่อนได้ เนื่องจากรอบระยะห่างการรับวัคซีนHPVแม้ต้องรับต่อเนื่อง 2 เข็ม แต่ระยะห่างเข็มที่1 และเข็มที่ 2 ห่างได้นานถึง 1 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนให้ในปัจจุบัน ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 5-6 เดือน (กรณีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี) เพื่อรอให้ผลการตรวจสอบวัคซีน ที่แน่ชัด .-สำนักข่าวไทย