กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด จะทำหนังสือยื่นนายกฯ ทบทวนแบนสารเคมี 2 ชนิด ระหว่างประชุม ครม.สัญจร จ.ระยอง ด้านสมาคมวิทยาการวัชพืชยื่นหนังสือผ่าน รมว.เกษตรฯ เพื่อส่ง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนมติการแบนแล้ว
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด และไม้ผลจะยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งถึงการปฏิบัติ 2 มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากการเตรียมออกประกาศ สธ. เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้สารทั้ง 2 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ. 4) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามที่ปรากฏในเพจเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ที่โพสต์ว่า สธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมสรุปการออกประกาศกำหนดค่าตกค้างของสารทั้ง 2 ชนิด ซึ่งผ่อนปรนให้สินค้าเกษตรที่นำเข้ามีค่าตกค้างของสารที่ยกเลิกใช้ได้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่เกษตรกรต้องนำพาราคอวตและคลอร์ไพริฟอสส่งคืนร้านค้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ซึ่งเหลือเพียงอีก 8 วันเท่านั้น
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มเกษตรกรได้ส่งหนังสือแจ้งความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม แต่อาจไม่ถึงนายกฯ เพราะไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ดังนั้น จึงจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้ถืงมือให้ได้ในวันที่ 25 สิงหาคม ระหว่างการประชุม ครม. จ.ระยอง ส่วนที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ไม่มีเกษตรกรเดือดร้อนจากการยกเลิก 2 สาร หากใครเดือดร้อนให้มาแจ้งได้นั้น เกษตรกรจะไม่ไปแจ้งต่อนางสาวมนัญญา เพราะเป็นผู้ผลักดันให้ยกเลิกใช้ ทั้งที่ยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร จึงเชื่อว่าไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหา
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการฯ รับหนังสือจากนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ เพื่อจะส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) ตามที่ได้ไปยื่นต่อนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขานุการ คกก.วอ. จากนั้นได้รับแจ้งว่าหากกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลใหม่มา ทาง คกก.วอ.จะนำมาทบทวน รวมทั้งยังยื่นหนังสือต่อนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน คกก.วอ. โดยระบุถึงการแบนพาราควอตของ คกก.วอ.นั้นใช้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจนทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง จึงขอให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ไปพิจารณาทบทวน
นอกจากนี้ นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ได้ยื่นหนังสือถึง รมว. เกษตรฯ ผ่านเลขานุการฯ เพื่อให้เสนอ คกก.วอ.ทบทวนการแบน 2 สาร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อนอย่างมาก
สำหรับในเพจของไทยแพนโพสต์ว่า ไทยแพนร่วมให้ความคิดเห็นทั้งทางเอกสารและหารือกับ อย. มาโดยตลอดว่า เมื่อแบนสารทั้ง 2 ชนิดแล้วจะต้องไม่พบการตกค้างในอาหารตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 อย.ได้พิจารณาและมีข้อสรุป ดังนี้ 1. เพิ่มรายชื่อของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในบัญชีหมายเลข 1 (รายการสารที่แบนแล้ว) ของประกาศกระทรวง เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง 2. ยกเลิกค่าการตกค้างที่อนุญาตให้พบในอาหาร (Maximum Residue Limit-MRL) โดยต้องตรวจไม่พบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายที่ยกเลิกแล้ว (Not Detected) และ 3. มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 กับอาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
ส่วนสาระสำคัญของประกาศที่สร้างความสับสนแก่เกษตรกรมากคือ การระบุถึง ค่า Limit of Detection (LOD) ว่า เป็นค่าความสามารถในการตรวจวัดการตกค้างของสาร ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องและวิธีการตรวจวัด ซึ่ง Thai-PAN อ้างถึงการประชุมของอย. สรุปว่า ผักผลไม้สด กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 มิลลิกรัม (มก.)/กิโลกรัม (กก.) เนื้อสัตว์ นม ไข่ กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอสและคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 มก./กก. ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 มก./กก. คลอร์ไพริฟอสและคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 มก./กก.
จากโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นคัดค้านจำนวนมากว่า เป็นการแก้ค่า MRLจากที่ต้องไม่พบมีค่าตกค้างของสารที่ยกเลิกใช้เลยคือ เป็น 0 กลับให้มีค่ามากขึ้นได้เพื่อเอื้อต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี รวมทั้งผักผลไม้จากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสได้ ดังนั้น การที่ อย.อ้างว่า ยกเลิก 2 สารนี้เพราะห่วงใยผู้บริโภคนั้นไม่เป็นความจริง.-สำนักข่าวไทย