กรุงเทพฯ 20 ส.ค. -“สุพัฒนพงษ์” รมว.พลังงาน ประชุมเวิร์กช็อปเอกชนพลังงาน ขอความร่วมมือเร่งจ้างงาน เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ล้มร่างพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง แต่สานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน ขีดกรอบใหม่ให้เสร็จใน 30 วัน ประกาศรับซื้อในปลายปีนี้ 100-200 เมกะวัตต์ ปัดข้อเสนอเจรจาเอกชนชนไอพีพีปลดระวางเร็วขึ้น เพื่อลดสำรองไฟฟ้า มั่นใจอนุมัติเอกชนนำเข้าแอลเอ็นจีภายในปีนี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือกับกลุ่มธุรกิจพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในหัวข้อ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ ” เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นที่ได้รับผลประทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะการจ้างงานมีผู้ได้รับผลกระทบตกงาน 2.5 ล้านคน ขณะที่มีเด็กจบใหม่ 400,000 คนต่อปี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และขอให้ดูถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เปราะบาง เช่น เอสเอ็มอี ภาคท่องเที่ยว โดยขอให้ผู้ประกอบการไปร่วมคิดโครงการแล้วเสนอกลับมาภายใน 2 สัปดาห์
“อยากให้ภาคธุรกิจพลังงานที่ยังพอยิ้มได้ ช่วยกันคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นได้อย่างไร จะทำเกิดการจดจำไปใน 10 ปีข้างหน้าว่าเราจะช่วยเหลือประเทศ และก็จะมีผลต่อการฟื้นตัวระยะกลาง-ยาว โดยสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและประเทศไทย รวมถึงภาคพลังงานด้วย วิกฤติครั้งนี้จะยังไม่หายไปได้ในเร็ววัน แต่อาจจะมีวันสิ้นสุดใน 12-15 เดือนข้างหน้า ซึ่งความร่วมมือก็ต้องมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวในส่วนของกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ได้เน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการจ้างงาน และในส่วนของงบกองทุนอนุรักษ์ปี 2563 ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ 5,600 ล้านบาท ก็จะเร่งเห็นชอบโดยเร็วเพื่อเป็นการส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บมจ.ปตท. ในการร่วมมือดูแลราคาพลังงาน ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่นการตรึงราคาเอ็นจีวี, แอลพีจี
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้สำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภาคเอกชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น คงไม่เจรจากับโรงไฟฟ้าไอพีพีที่จะหมดอายุปี 2564-2568 เพื่อขอความร่วมมือปลดระวางลงเร็วแต่อย่างใด แต่จะเร่งการขายไฟฟ้าไปเครือข่ายเพื่อนบ้าน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี ขณะที่การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ทางกระทรวงฯ จะเดินหน้าต่อ แต่ให้นโยบายว่าจะต้องให้เกษตรกรเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักมีความยั่งยืน ไม่ใช่โรงไฟฟ้าได้ประโยชน์ หรือเอกชน ซึ่งจะวางหลักเกณฑ์ภายใน 30 วัน และคาดว่าจะประกาศรับซื้อได้ภายในปีนี้ประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนก็จะเดินหน้าต่อ และทบทวนปรับราคารับซื้อให้สูงขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 1.68 บาท/หน่วย
“โรงไฟฟ้าชุมชนเดินหน้าต่อได้ แต่ขอให้เกษตรกรได้ประโยชน์เป็นหลัก ส่วนปริมาณโดยรวมที่เคยซื้อเสนอไว้ ว่าจะมีการปรับปรุงตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) แผนปรับปรุงยังไม่ผ่าน ครม.และไม่ต้องใช้แล้ว เพราะเมื่อโควิด-19 เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเราก็ต้องทบทวนและตามติดเศรษฐกิจโดยรวมใหม่ว่าพีดีพีควรจะเป็นอย่างไร” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า เพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด สำหรับโครงการที่ต่อเนื่องจะยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ B10 ก็ต้องช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ และมีมาตรการป้องปรามการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่จะใช้ในภาคพลังงานได้อย่างรัดกุม
ส่วนเรื่องการอนุมัตินำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ตามแผนเปิดเสรีการนำเข้านั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยรวมแล้วคาดว่าจะสามารถอนุมัติให้เอกชนนำเข้าได้ภายในปีนี้. -สำนักข่าวไทย