กรุงเทพฯ 11 ส.ค. – สนพ.เผย 6 เดือนแรกปีนี้ ยอดการใช้พลังงานลดลงร้อยละ 10.1 คาดทั้งปีลดลงร้อยละ 5.3 ตามเศรษฐกิจชะลอ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 10.1 จากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลความต้องการใช้พลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ขณะที่ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ การใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 12.6 แบ่งแยกเป็นการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 4.3 การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลดลงร้อยละ 7.1 การใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงร้อยละ 48.6 ขณะที่การใช้แอลพีจีลดลงเกือบทุกสาขา การใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 8.5 ส่วนการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือเอ็นจีวี ลดลงร้อยละ 28.8 การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 สำหรับการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์โรงแรมและห้างสรรพสินค้า แต่ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงจากมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
ส่วนแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 ผอ.สนพ.คาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.3 ตามเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท การใช้น้ำมันคาดว่าจะลดลงร้อยละ 14.2 การใช้ก๊าซธรรมชาติจะลดลงร้อยละ 5.4 การใช้ถ่านหินและลิกไนต์จะลดลงร้อยละ 1.0 ขณะการใช้พลังงานไฟฟ้าปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี 2563 เกิดขึ้นวันที่ 13 มีนาคม 2563 มีการใช้ไฟฟ้าไป 30,342 เมกกะวัตต์ ลดลง 6.0% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำหรับการนำเสนอนโยบายต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะเสนอเรื่องการเปิดเสรีก๊าซเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งการเสนอต่อท่อจากนครราชสีมาไปรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเขื่อนน้ำพอง จ.ขอนแก่น.-สำนักข่าวไทย