กรุงเทพฯ 11 ส.ค. – กยท.เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยาง ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราอันดับหนึ่ง สอดคล้องความต้องการใช้ทั่วโลก
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 37,381 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังการผลิตถุงมือยางส่งออกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก รวมถึงเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ จึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมวิชาการเกษตร รวมถึงนักวิชาการ เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคผู้ผลิต และภาคธุรกิจ
นางวราภรณ์ ขจรไชยกูล ที่ปรึกษาด้านการควบคุมและแปรรูปอุตสาหกรรมยางปลายน้ำด้านยางแห้ง กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทั้งถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ทั่วโลก ภายใต้มาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้า ISO 11193-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลสำหรับถุงมือตรวจโรค และ ISO 10282 สำหรับมาตรฐานถุงมือผ่าตัด แต่ยังมีมาตรฐานระดับประเทศที่จำกัดการนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติ ได้แก่ ASTM ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหรัฐส่งผลกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติของไทย ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) วิจัยและพัฒนาจนสามารถลดปริมาณโปรตีนที่ละลายน้ำในถุงมือยางธรรมชาติได้ต่ำกว่า 200 ไมโครแกรม ตามมาตรฐาน ASTM กำหนด โดยคุณสมบัติทางการภาพยังคงเหมือนเดิม ขณะนี้การวิจัยดังกล่าวผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วอยู่ระหว่างการทดสอบระดับโรงงาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าถุงมือยางของไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลก โดยก้าวต่อไปจะบูรณาการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีถุงมือยาง โดย กยท. MTEC กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง
ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสผลิตถุงมือยางไปกลุ่มประเทศผู้ใช้ถุงมือยางรายใหม่จากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ อินเดีย กลุ่มประเทศตะวันอออกกลาง ซึ่งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางพารามากขึ้น ทั้งการปรับปรุงเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต หากมีการผลิตเพิ่มขึ้นปริมาณการใช้ยางในประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมประเภทอื่นและเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น โดยมุ่งให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 ของโลกในอนาคต
นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า ได้หารือกับกรมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งให้ข้อมูลว่าทูตพาณิชย์ประจำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแจ้งความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากรมการค้าระหว่างประเทศส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยด้วยการจับคู่ธุรกิจและนำผู้ประกอบการไทยออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ปรับรูปแบบเป็นการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยาง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมประสานงานกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเชื่อมั่นและเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ผลิตถุงมือยางของไทยและผู้ใช้ในต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย