กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – “มนัญญา” แจงวุฒิสภา กระทรวงเกษตรฯ เร่งหามาตรการเยียวยาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแบนพาราคอวตและคลอร์ไพริฟอส อยู่ระหว่างคำนวณอัตราชดเชยที่เหมาะสม ควบคู่หานวัตกรรมทดแทน ด้านผู้แทนเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองยืนยันรอศาลปกครองกลางพิจารณาคำร้องให้ระงับการยกเลิก 2 สาร ชี้สารชีวภัณฑ์ปลอมเกลื่อน ร้องดีเอสไอปราบปราม
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ (10 ส.ค.) ได้ตอบกระทู้ถามของพลเอกดนัย มีชูเวท สมาชิกวุฒิสภา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการห้ามใช้สารพาราควอตและคลอไพริฟอส ซึ่งขณะนี้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีปลัดกระทรวงเป็นประธานได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คำนวณอัตราการชดเชยที่เหมาะสมให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสนับสนุนเครื่องจักรกล รวมทั้งการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีปฏิบัติในการกำจัดวัชพืชที่ทดแทนการใช้สารเคมี การทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ส่วนกรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและสารเคมีอื่น โดยเปรียบเทียบวิธีการใช้และค่าใช้จ่าย ส่วนที่กังวลว่า ต้องพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศซึ่งบางประเทศยังใช้สารเคมีที่ไทยยกเลิกแล้วนั้น กรมปศุสัตว์เร่งส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์คุณภาพดีเพื่อลดการใช้อาหารข้นซึ่งประกอบด้วยถั่วเหลืองและข้าวโพดถึงร้อยละ 20
นางสาวมนัญญา ยืนยันว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้น ทางกฎหมายมีผลปฏิบัติแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศ “สินค้านำเข้าเมื่อตรวจวิเคราะห์แล้ว ต้องไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4” ดังนั้น การนำเข้าถั่วเหลืองกับข้าวโพดทั้งจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และอื่น ๆ ต้องไม่มีสารตกค้างเลย (zero tolerance) โดยหลักการออกประกาศเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงความเท่าเทียมของผลิตภัณฑ์อาหารภายในประเทศกับที่นำเข้า และภาคอุตสาหกรรมต้องดำเนินธุรกิจได้ จึงผ่อนผันให้วัตถุดิบมีสารตกค้างมากกว่า 0 ได้ประมาณถึง 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับไปดำเนินการ
“กระทรวงเกษตรฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ส่งการกำหนดค่าสารตกค้างในวัตถุดิบที่นำเข้าเป็นไปตาม พ.ร.บ. อาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข” นางสาวมนัญญา กล่าว
ด้านนางสาวอัญชุลี พรรณสุนีย์วิไล ลักษณ์อำนวยพรจากเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอบคุณอธิบดีที่รับเรื่อง การปราบปรามสารชีวภัณฑ์ปลอม ซึ่งปนสารเคมีวัตถุอันตรายเป็นคดีพิเศษ เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกหลอกลวง ส่วนการร้องศาลปกครองกลางจากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนั้น ขณะนี้เกษตรกรรอว่า ศาลจะพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับการแบนหรือไม่ ยืนยันว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากการห้ามใช้ อีกทั้งยังไม่มีทางเลือกว่าจะให้เกษตรกรจะใช้สารใดทดแทน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องร้องศาลปกครองเพื่อให้ความยุติธรรม.-สำนักข่าวไทย