กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – ส.อ.ท.เสนอรัฐออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ช่วยเศรฐษกิจรากหญ้า พร้อมยืดเวลาชำระหนี้ให้เอสเอ็มอีต่ออีก 2 ปี จนถึงสิ้นปี 65 ด้านเอ็กซิมแบงก์เตรียมเสนอยืดหนี้ต่ออีก 1 ปี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังการปรับคณะรัฐมนตรีทางภาคเอกชนเห็นว่าเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม พร้อมมีแนวคิดที่จะเสนอให้ภาครัฐพิจารณากู้เงินผ่านการออก พ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพราะมองว่าหนี้สาธารณะของประเทศยังต่ำ จึงพอที่จะพิจารณากู้เงินเพิ่มได้อีก โดยเงินกู้ก้อนใหม่อยากให้อย่างน้อยใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มรากหญ้า หรือ เศรษฐกิจฐานราก ผ่านรูปแบบโครงการระยะสั้นและโครงการระยะยาว โดยภาครัฐเป็นหน่วยงานทำหน้าที่กระจายออกไปยังภาคสังคมต่อไป
นอกจากนี้ ทาง ส.อ.ท.ประเมินว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงไทยจะยังคงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยปีหน้า ผู้ประกอบการจึงยังไม่สามารถทำกำไรได้ ดังน้ัน จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาออกนโยบายช่วยเหลือโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยการต่อมาตรการไม่ต้องชำระหนี้ออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จนถึงปี 2565 แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ขอให้พิจารณายืดระยะเวลาไม่ต้องจ่ายชำระดอกเบี้ยต่อไปอีก 6 เดือนต่อเนื่องหลังจากมาตรการช่วยเหลือที่จะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2563 ส่วนในช่วง 1 ปี 6 เดือนที่เหลือไปจนถึงปี 2565 ขอให้พิจารณาผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ได้ เพื่อช่วยผ่อนคลายทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการจะได้มีกระแสเงินสดนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ และไม่ก่อให้เกิดภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในระบบสถานบันการเงิน ซึ่งทางธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเช่นกันไม่ติดปัญหาเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ต้องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น วงเงินกู้ที่ ธปท.จัดไว้ที่เหลือ 400,000 ล้านบาท จาก 500,000 ล้านบาท จะได้มีการนำมาใช้
นอกจากนี้ จะต้องมีการแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ พร้อมกับควรมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่สำคัญภาครัฐจะต้องเป็นผู้ที่ใช้จ่ายเงินออกมาให้มากที่สุด เพราะเป็นหน่วยงานเดียวที่จะช่วยได้ ส่วนมาตรการอื่นที่จะขอจากภาครัฐให้พิจารณาช่วยเหลืออีกนั้น ขณะนี้ทางภาคเอกชนอยู่ระหว่างรวบรวมโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประทศไทยหรือสภาผู้ส่งออกด้วย
สำหรับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ล่าสุดประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท เฉพาะการท่องเที่ยวธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้สร้างความเสียหายไปแล้วถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพราะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแต่ละปีสร้างรายได้แก่ประเทศปีละเกือบ 3 ล้านล้านบาท ด้านแรงงานภาพรวมขณะนี้เท่าที่ทราบข้อมูลตกงานไปแล้วถึง 3 ล้านคน หากภาครัฐไม่ขยายมาตรการช่วยผู้ประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ แรงงานจะตกงานเพิ่มเป็น 7 ล้านคน
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้จะสิ้นสุด 1-2 เดือนข้างหน้าหรือสิ้นเดือนตุลาคม 2563 แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมี ลูกหนี้บางส่วนยังไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้เต็มที่ จึงไม่สามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ตามปกติได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งทางเอ็กซิมแบงก์ได้ให้การช่วยเหลือไปก่อนและขณะนี้อยูระหว่างทบทวนมาตรการช่วยเหลือและรวบรวมข้อมูล เพื่อจะนำเสนอให้ที่ประชุมสมาคมธนาคารของรัฐพิจารณาต่อไป ซึ่งเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือน่าจะอยู่ในรูปของการขยายมาตรการออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับสู่สถานปกติได้ในอนาคตและจะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ธปท. ว่าในภาวะไม่ปกติเช่นนี้ไม่ควรใช้เกณฑ์ปกติในการพิจารณาลูกหนี้ และอีกเรื่องที่ลูกหนี้กังวลมาก คือ การเสียเครดิตถูกบันทึกเป็นหนี้เสียในเครดิตบูโร.-สำนักข่าวไทย