กรุงเทพฯ 28 ก.ค. – รมช. มนัญญา เผยทำงานเต็มที่ตลอด 1 ปีในกระทรวงเกษตรฯ ชี้ไม่มีสัญญาณเปลี่ยนตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรี ลั่นพร้อมทำงานแบนสารเคมีการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะการแบนสารเคมีทางการเกษตรอันตรายคือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซตได้ให้กรมวิชาการเกษตรรวบรวมข้อมูลส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย (วอ. ) เพื่อพิจารณาแบนต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ วอ. ว่า จะลงมติอย่างไร สำหรับตนเองนั้นทำเพื่อผู้บริโภคชาวไทยทั้งประเทศให้ได้รับประทานอาหารปลอดสารเคมีและจะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวางขึ้น
ส่วนการยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ให้สารชีวภัณฑ์จากสมุนไพร 13 ชนิดซึ่งอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ปรับมาอยู่ในบัญชีที่ 1 เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาใช้ผลิตเพื่อกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชนั้น ได้เร่งรัดให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการ ซึ่งมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้คณะกรรมการวอ. พิจารณาเร็วที่สุด
“ทำงานเต็มที่เสมอ โดยยังไม่มีสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนรัฐมนตรีโควต้าพรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ไม่มีใครจะหยุดยั้งการทำหน้าที่ซึ่งยืนหยัดตลอดมาได้” นางสาวมนัญญากล่าว
ด้านนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรียกร้องให้คณะกรรมการวอ. ทบทวนมติแบนพาราควอต แล้วพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐและผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจตามข้อมูลของนักวิชาการที่เอ็นจีโอเสนอ โดยไม่มีการพิสูจน์และวิจัย ตลอดจนหาสารและวิธีการทดแทน จึงสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรจำนวนมาก เมื่อกำจัดวัชพืชไม่ทันส่งให้พืชเศรษฐกิจเจริญเติบโตไม่ดี คาดว่า ผลผลิตจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
ทั้งนี้มั่นใจว่า ข้อมูลตามที่เอ็นจีโอเสนอว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากพิษของสารพาราควอตนั้น ไม่เป็นความจริง สาเหตุของโรคเนื้อเน่าคือ เชื้อแบคทีเรีย โดยสมาคมวิทยาการวัชพืชได้เก็บตัวอย่างดินและน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งคือ ห้วยไข่ คลองเจริญ และลำน้ำโมงในตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภูมาตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งปรากฏว่า ไม่พบพาราควอต แต่พบแบคทีเรียกินเนื้อคน (Aeromonas hydrophila) และเชื้อ Leptospira spp. สาเหตุของโรคฉี่หนู จึงไม่ตรงกับที่นักวิชาการฝ่ายเอ็นจีโอกล่าวอ้างว่า พบพาราควอตตกค้างปริมาณมาก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วจึงตัดสินใจเกี่ยวกับการแบนพาราควอตจากข้อพิสูจน์ที่เชื่อถือได้ . – สำนักข่าวไทย