ดีเอสไอ 29 พ.ย.-ดีเอสไอเผยมีกลุ่มบุคคลนำพันธบัตรสหรัฐอเมริกาปลอมมูลค่ากว่า4หมื่นล้านบาท มาใช้ในไทย เตือนประชาชนระวังอย่าตกเป็นเหยื่อ
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มอบหมายให้สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงและก่อการร้ายสากล ดำเนินการสืบสวนตามที่แผนกตำรวจแคนาดา (Royal Canadian Mounted Police) ขอความร่วมมือให้ดำเนินการสืบสวน กรณีมีบุคคลต่างชาตินำพันธบัตรสหรัฐฯ ปลอม มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท มาใช้แสดงต่อผู้อื่นว่าเป็นพันธบัตรจริงที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐฯ และสามารถใช้ไถ่ถอนได้ โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นหลงเชื่อและอาจเกิดความเสียหายได้
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ซึ่งผลการตรวจสอบโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยันแล้วว่าพันธบัตรดังกล่าวเป็นของปลอม กรณีเข้าข่ายเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 /266 และ 268
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลชาวไทยหรือชาวต่างชาตินำพันธบัตรปลอมลักษณะเดียวกันมาแอบอ้างใช้หลอกลวงผู้อื่นเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ใช้พันธบัตรปลอมเป็นหลักประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและนำเงินมาร่วมลงทุนหรือดำเนินกิจกรรมใด โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงมาเป็นสิ่งจูงใจ และสร้างหลักฐานปลอมต่าง ๆ มาสนับสนุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จนทำให้ผู้ถูกหลอกลวงตัดสินใจนำเงินไปร่วมลงทุนด้วยและต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
สำหรับลักษณะพันธบัตรสหรัฐฯ ปลอมที่นำมาใช้หลอกลวงในคดีความผิดลักษณะนี้จะมีลักษณะเป็นเอกสารพันธบัตรเก่าซึ่งระบุว่าพิมพ์ขึ้นเมื่อประมาณ 60 – 80 ปีก่อน (ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1930) และมีเนื้อหาและรูปแบบที่คล้ายคลึงกับต้นฉบับของจริงมาก ซึ่งแม้ว่าจะตรวจสอบได้ยาก แต่มีจุดที่สังเกตได้ว่าเป็นพันธบัตรปลอม อาทิ มูลค่าพันธบัตรที่สูงเกินไป การสะกดคำผิด การระบุชื่อหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวัง หากมีผู้นำพันธบัตรสหรัฐฯ หรือนำเอกสารทางการเงินในทำนองเดียวกันนี้ มาชักชวนให้ร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแนะนำให้ตรวจสอบอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย