โตเกียว 8 ก.ค.- แบบจำลองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์แนะวิธีลดความเสี่ยงติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในรถโดยสารที่แออัดของญี่ปุ่น หลังจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเตือนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เป็นโรคนี้อาจแพร่ทางอากาศ (airborne)
ริเคน บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นใช้ฟูกาคุ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วที่สุดในโลก ทำแบบจำลองว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถเดินทางไปในอากาศในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กันได้อย่างไร แล้วออกคำแนะนำเรื่องวิธีลดความเสี่ยงติดเชื้อในสถานที่สาธารณะ เช่น การเปิดหน้าต่างรถโดยสารสาธารณะจะช่วยให้อากาศถ่ายเทได้มากขึ้น 2-3 เท่า และลดความเข้มข้นของเชื้อโรคโดยรอบ แต่ต้องมีระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร หมายความว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เรื่องรูปแบบการโดยสารรถสาธารณะของชาวญี่ปุ่นที่ปกติจะแน่นขนัด การติดตั้งแผ่นกั้นตามสำนักงานและห้องเรียน การติดตั้งม่านสูงจรดเพดานรอบเตียงตามโรงพยาบาล
นักวิทยาศาสตร์ 239 คน ใน 32 ประเทศเขียนจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถล่องลอยในอากาศ และทำให้คนติดเชื้อได้จากการหายใจเข้าไป ต่างจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อออกมากับละอองฝอย (droplet) จากการไอ จาม และพูดคุย จดหมายเปิดผนึกแนะนำให้ปรับปรุงระบบระบายอากาศ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมปิดและแออัด นายชินอิจิ ทานาเบะ อาจารย์มหาวิทยาลัยวาเซดะในกรุงโตเกียว หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เผยว่า ญี่ปุ่นใช้วิธีนี้อย่างกว้างขวางมาหลายเดือนแล้ว คณะกรรมการรับมือโควิด-19 ของญี่ปุ่นแนะให้ใช้มาตรการ 3C ก่อนประเทศอื่น ๆ ด้วยการขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ปิด (closed) แออัด (crowded) และใกล้ชิดกัน (close-contact).- สำนักข่าวไทย