รัฐสภา 1 ก.ค.- ผู้นำฝ่ายค้านชี้ รัฐบาลจัดงบประมาณฯ ปี 64 แบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 ไม่มองอนาคตไทยที่จะก้าวไปทางไหน เตือนอย่าเอางบไปใช้ในนโยบายเพื่อหาเสียง
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง สำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การพิจารณางบประมาณฯ ปี 64 ที่สภาฯ กำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ป้องกันมิให้ประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บนความเสียหายของประเทศและประชาชน
นายสมพงษ์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจกลับติดอันดับต้นๆ ของโลก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล อันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น ความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า GDP ปี 63 จะหดตัวติดลบ 8.1% ลงลึกกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือโควิด-19
นายสมพงษ์ กล่าวว่า เรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการแบบได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาด มีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก ดังนั้น หากไม่นำกลับไปแก้ไข ก็ไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้
“คำถามที่สำคัญ คือ แล้วจะจัดทำงบประมาณอย่างไร ที่รัฐบาลจัดทำมา เป็นคำตอบที่ใช่หรือไม่ โจทย์หลักสำคัญของรัฐบาลที่ต้องท่องคาถาไว้ สำหรับการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ คือ ต้องรองรับคนตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้ ต้องสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง ระยะยาวได้ ต้องทำได้เลย ทำได้เร็ว” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณสำหรับภาวะวิกฤต หลักคิดต้องแตกต่างจากภาวะปกติ เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะลามถึงสถาบันการเงินแค่ไหน และจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ ฉะนั้น โจทย์ 3 ข้อนี้ รัฐบาลต้องท่องให้แม่น และทำให้ได้ แต่งบประมาณฯ ปี 64 ฉบับนี้ กลับไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤต ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น
“งบประมาณ ปี 64 ยังถูกจัดสรรแบบโบราณ คร่ำครึ มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึง การจัดอบรมต่างๆ เสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมา ตามระบบรัฐราชการ รัฐบาลขาดการมองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ยังไง สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ ยังเตือนด้วยว่า งบประมาณฯ ปี 64 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้าเพื่อตัวเอง ขอย้ำว่า เราไม่อยากเห็นนโยบายชิม-ช็อป-ใช้ แจกเงินเที่ยว รวมถึง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นมาตรการเพื่อตนและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต .- สำนักข่าวไทย