แพร่ 17 มิ.ย. – กระแสร้อนแรงเกี่ยวกับการทุบอาคารเก่าแก่อายุ 131 ปี ซึ่งในอดีตเป็นของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามารับสัมปทานตัดไม้ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจ เพราะถือเป็นอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม
สืบเนื่องจากกรณีผู้รับเหมารื้อทุบอาคารเก่าแก่อายุ 131 ปี ซึ่งเป็นอดีตอาคารของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาฯ ภายในสวนรุกขชาติเชตะวัน ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่หน่วยราชการไม่แจ้งข้อมูลให้ทราบ โครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงและซ่อมแซม งบประมาณ 4.56 ล้านบาท แต่ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการทุบอาคารทั้งหลังและนำไม้ไปกองไว้ ผิดกับหลักการรื้อถอนของสถาปนิกที่ต้องมีแบบแปลนที่แล้วเสร็จและชัดเจน มีสเกลของอาคารที่ชัดเจน
ล่าสุดวันนี้ (17 มิ.ย.) ชาวจังหวัดแพร่ที่ไม่พอใจกรณีสมบัติเก่าแก่ของจังหวัดถูกทำลายโดยไม่ทราบเรื่องแม้แต่น้อย ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อขอทราบเหตุผลในการรื้ออาคารเก่าแก่ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากจังหวัด และขอเลื่อนชี้แจงไปเป็นวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน เวลา 09.00 น. จากนั้นมีประชาชนรวมกลุ่มไปที่อาคารหลังดังกล่าว เพื่ออ่านกลอนเรียกร้องเปิดเผยข้อมูล
ส่วนบริเวณอาคารที่ถูกรื้อทิ้ง ยังมีประชาชนทยอยกันมาดูพื้นที่จริงเป็นจำนวนมาก ต่างไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว อาคารเก่าแก่ที่ถูกทุบทิ้งแล้วจะมาอ้างว่าสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
ด้านสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นเจ้าของในการปรับปรุง ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการถูกทำขึ้นตั้งแต่ปี 2560-2561 เป็นการของบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก่าแก่ในสวนรุกชาติบ้านเชตะวัน จนกระทั่งมีการอนุมัติในปี 2563 วงเงิน 6,707,190 บาท จากนั้นจังหวัด ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้ดำเนินการ และอธิบดีได้มอบหมายให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ผู้ดำเนินการต่อ ยืนยันว่าการรื้ออาคารไม่ใช้การทุบทิ้งหรือทำลาย แต่เป็นขั้นตอนการรื้อเพื่อดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคาร แต่ด้วยอาคารเสื่อมสภาพอย่างมากจึงต้องรื้อออกทั้งหมด โดยรักษาชิ้นส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้เป็นชิ้นส่วนหลักในการปรับปรุงอาคารใหม่ที่คงรูปแบบเดิม ซึ่งกำลังทำบัญชีจัดกลุ่มไม้แต่ละส่วน ตามกำหนดจะสร้างปรับปรุงอาคารเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ขณะนี้ได้สั่งให้ระงับการดำเนินการทุกอย่างแล้ว เพราะทำให้ประชาชนเสียใจ ก่อนประสานให้ผู้รับเหมามาชี้แจงต่อไป
วสท.แนะมีหลายวิธีบูรณะอาคารเก่าแก่โดยไม่ต้องรื้อ
ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุว่า การซ่อมแซม ปรับปรุงหรือบูรณะอาคารเก่าแก่นั้น จะต้องคงโครงสร้างอาคารเดิมเพื่อรักษาคุณค่าให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงสำรวจหาจุดที่บกพร่องหรือผุพัง เพื่อหาวิธีการซ่อมแซม ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมาก หากพบโครงสร้างมีปัญหา สามารถเสริม เติม ยึด ฉีดอัด หรือเปลี่ยนให้แข็งแรงอย่างเก่า หรือแข็งแรงกว่าเดิมได้หลายวิธีการ เช่น หากเกี่ยวกับฐาน หรือโครงสร้างพื้นที่ใช้รับน้ำหนักตัวอาคาร สามารถใช้วิธี GROUTING หรือการเคลือบพื้น Epoxy โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปรื้อ ถอน หรือทุบทำลายอาคาร นอกจากนี้ต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย ก่อนแจ้งให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ว่าอาคารเสียหายขนาดใด ก่อนหารือวิธีการบูรณะ โดยจะไม่มีการลงมือทำโดยไม่ปรึกษาผู้ว่าจ้างเด็ดขาด
กรมศิลปากรชี้อาคาร “บอมเบย์ เบอร์มา” เข้าข่ายเป็นโบราณสถาน
ด้านนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยกับสำนักข่าวไทย ถึงกรณีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ทำหนังสือสอบถามกรมศิลปากร หลังประเมินว่าอาคารดังกล่าวเสียหายและจำเป็นต้องรื้อถอน แต่ไม่ได้รับคำตอบว่าขณะนี้ยังไม่เห็นตัวหนังสือ จึงได้สั่งให้สำนักกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ที่รับผิดชอบพื้นที่ ตรวจสอบว่าเอกสารถูกส่งมาเมื่อใด
ส่วนประเด็นว่าอาคารดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นโบราณสถานหรือไม่ หากดูจากข้อมูลภาพรวม รูปแบบอาคาร อายุ ประวัติความเป็นมา ลักษณะการก่อสร้าง คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ถือว่าเข้าข่ายการเป็นโบราณสถาน แต่จะเป็นประเภทที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งประเทศไทยมีโบราณสถานที่ได้รับการสำรวจและขึ้นทะเบียนประมาณ 3,000 แห่ง และที่สำรวจแล้วแต่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน 7,000-8,000 แห่ง รวมทั้งอีกหลายพันแห่งทั่วประเทศที่ยังไม่ได้สำรวจ
ทั้งนี้ การสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีกระบวนการหลายรูปแบบ เช่น กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและอนุรักษ์โดยตรง สามารถขออนุญาตเข้าไปสำรวจดำเนินการ หรือหน่วยงานรัฐ เอกชน บุคคล องค์กร เจ้าของพื้นที่ แจ้งความประสงค์ขอความร่วมมือมายังกรมศิลปากรให้เข้าสำรวจ. – สำนักข่าวไทย