17 มิ.ย. – วิกฤติโควิด-19 หลายเดือนที่ผ่านมา มีมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาด และตรวจหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคไต เบาหวาน ความดัน ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงมีความพยายามในการลดเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ที่สุดก็ยังต้องมีกำหนดพบแพทย์ ทางแก้ปัญหาสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้จะทำอย่างไร
มะลิ แซ่หยาง ในวัย 42 ปี ต้องฟอกไตมานานกว่า 5 ปี ก่อนเข้ารับผ่าตัดเปลี่ยนไตที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยใช้สิทธิประกันสังคม วัดความดันทุกวัน ต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเดือนละครั้ง แต่สถานการณ์โควิด-19 มีการลดจำนวนผู้ป่วยเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้เธอไม่ได้ไปพบหมอนานถึง 2 เดือนแล้ว กระทั่งยาที่ต้องทานวันละ 8 ตัว หมดลง ทำให้ต้องไปรับยาเอง เนื่องจากอาศัยอยู่คนเดียวในห้องเช่าเล็กๆ ไม่มีญาติไปรับยาแทน ก่อนหน้านี้ยังพอขายของเล็กๆ น้อย ๆ เช่น ดอกไม้แห้งอบหอม แต่หลังเปลี่ยนไต เธอออกไปขายของไม่ได้เลย โชคดีที่ได้เงินเยียวยาจากรัฐเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ทำให้ยังพอมีเงินจ่ายค่าห้อง และค่ากินอีกเล็กน้อย
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลตำรวจปรับการรักษา ตรวจเยี่ยมคนไข้ถึงบ้าน เมื่อซักประวัติสอบถามอาการ เห็นว่าอาการคงที่ คนไข้ดูแลตัวเองได้ดี จึงให้เข้าโครงการ Inlove online รับยาที่บ้าน และติดตามอาการผ่านช่องทางออนไลน์ และหากในอนาคตจะกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่ ทางโรงพยาบาลพร้อมส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อการรักษาต่อไป
ขณะที่ผู้ป่วยเรื้อรังที่เข้าโครงการรับยาที่บ้าน ก็ควรพบแพทย์เมื่อครบ 2 เดือน อย่างคุณตาวัย 97 ปี ป่วยโรคเบาหวาน และความดัน ที่ครบกำหนดต้องเจาะเลือด แต่ลูกหลานยังกังวลความเสี่ยงถ้าไปโรงพยาบาล เนื่องจากอายุมากแล้ว ทีมแพทย์ลงพื้นที่ตรวจและเจาะเลือดให้ถึงบ้าน ทำให้ครอบครัวคลายกังวล ส่วนคู่ชีวิตของคุณตา คือคุณยายวัย 90 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคอัมพาตฉับพลัน เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง มีผู้ช่วยพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ทั้งคุณตาและคุณยาย
การส่งทีมแพทย์พยาบาลตรวจเยี่ยมอาการผู้ป่วยเรื้อรังถึงบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ นับเป็น New Normal ในการตรวจรักษาที่คนไข้ได้รับการตรวจเหมือนมารักษาตัวที่โรงพยาบาล คลายความกังวลให้กับผู้ป่วยและญาติได้เป็นอย่างดี. – สำนักข่าวไทย