ทำเนียบรัฐบาล 27 เม.ย.-โฆษกศบค.เผยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 9 ราย ขยายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน เตรียมเสนอครม.พิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ถ้าผ่อนต้องเป็นกิจการเดียวกันทั้งประเทศ หวั่นคนหนีไปทำพื้นที่ที่คลายให้ ชี้ถ้าคุมไม่ดี พ.ค.-ก.ค. อาจป่วยพุ่ง 500-2,000 รายต่อวัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ (27 เม.ย.) ว่า ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 9 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,931 ราย รักษาหาย 2,609 ราย รักษาตัวอยู่ 270 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 52 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นหญิงไทย อายุ 64 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัวคือ โรคโลหิตจาง มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้คือคนในครอบครัว ซึ่งมีผู้ป่วย 5 คน เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 2 เมษายนด้วยอาการไข้ ไอ หอบ เหนื่อย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดภูเก็ต และเมื่อ 8 เมษายนได้ส่งผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 วันที่ 10 เมษายน อาการแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น ย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด พบปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาเหนื่อยมากขึ้น การทำงานของไตลดลง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 เมษายน ด้วยระบบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน
“จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 9 ราย พบว่ามาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 3 ราย (ที่จังหวัดภูเก็ต สุพรรณบุรี และยะลา ) และการค้นหาเชิงรุกที่จังหวัดยะลา 4 ราย และผู้ป่วยกลับจากต่างประเทศ คือสหรัฐฯ และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2 ราย ส่วนผู้ป่วยสะสม 2,931 ราย พบใน 5 จังหวัดสูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,481 ราย มีอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 9 ราย ภูเก็ต 206 ราย นนทบุรี 156 ราย ยะลา 113 ราย และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย สมุทรปราการ 111 ราย และเมื่อจำแนกอัตราป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยไม่รวมผู้ป่วยที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ พบว่า จังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.83 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 26.11 ยะลา ร้อยละ 21.15 ปัตตานี ร้อยละ 10.95 และนนทบุรี ร้อยละ 12.42 ทั้งนี้ มี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และมี 1 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้คือ สตูล ส่วนผู้ฝ่าฝืนการประกาศเคอร์ฟิว มีประชาชนออกนอกเคหสถาน 449 ราย รวมกลุ่มชุมนุมและมั่วสุมจำนวน 59 ราย” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 2,994,796 ราย เสียชีวิต 206,995 ราย สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อมากที่สุด 987,160 ราย เสียชีวิต 55,413 ราย ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 58 ของโลก
“วันนี้(27 เม.ย.) จะมีเที่ยวบินรับคนไทยที่ตกค้างจากประเทศญี่ปุ่นกลับไทย 35 คน เนเธอร์แลนด์ 25 คนและนิวซีแลนด์ 168 คนส่วนพรุ่งนี้(28 เม.ย.) จากสเปน 12 คนและอินเดีย 200 คน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยดูแลจุดผ่านแดนทั่วประเทศ มีคนไทยเดินทางเข้ามาวานนี้(26 เม.ย.) ด้วยการลงทะเบียน 293 คน และไม่ลงทะเบียน 107 คน และ ตั้งแต่วันที่18-25 เมษายนมีผู้เดินทางเข้ามาด้วยการลงทะเบียน 2,838 คน ไม่ลงทะเบียน 936 คน สรุปยอดรวมทั้งสิ้น 4,174 คน ส่วนจำนวนห้องพักของสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้มีจำนวน 5,468 ห้องมีผู้เข้าพัก 2,132 ห้องคงเหลือ 3,336 ห้อง” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงานตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาว่าทำได้ดี ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 โดยยึดหลักของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก
“นายกรัฐมนตรีมีข้อกังวลและห่วงใยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ โดยมอบนโยบายให้กำหนดระยะเวลาการผ่อนปรน ที่อาจแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 25% 50% 75 % และ 100% ซึ่งจะต้องดูเป็นระยะ ๆ โดยแต่ละระยะต้องใช้เวลาทบทวน 14 วันภายหลังจากให้มาตรการไปแล้ว และให้ประเมินมาตรการต่าง ๆ ซึ่งหากมาตรการต่าง ๆ ได้ประกาศใช้และได้ผล จึงยืดระยะเวลาออกไป แต่ถ้าเกิดปัญหาหรือเกิดการติดเชื้อขึ้น ก็ต้องทบทวน เพราะเมื่อประกาศใช้ได้ก็สามารถระงับได้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการระบาดระลอก 2 เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียมากมาย และสิ่งที่ลงทุนไปจะล้มเหลวทั้งหมด” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 3 กรณีคือ หากสามารถควบคุมได้ดี ด้วยการคงมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ จำกัดการเคลื่อนย้ายภายในประเทศและคงมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ จะเกิดผู้ป่วยรายใหม่ 15-30 รายต่อวัน รวม 3 เดือน 1,889 รายแต่ถ้าสถานการณ์ควบคุมได้ มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด และระบบสาธารณสุขรองรับได้ โดยยังคงมาตรการเมื่อเข้าประเทศแล้วต้องเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ แต่เปิดให้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจการได้ อาจจะเกิดผู้ป่วยใหม่ 40-70 รายต่อวันรวม 3 เดือน 4,661 ราย
“สุดท้ายหากสถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำ คล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวยและสถานบันเทิง ด้วยการเปิดการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากทั้งในและระหว่างประเทศ โดยไม่กักกัน ติดตาม อาจพบผู้ป่วยใหม่ 500- 2,000 รายต่อวัน รวม 3 เดือน จะมีผู้ป่วยใหม่สูงถึง 46,596 ราย ทำให้ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ขณะที่วันนี้มีจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด-19 แล้ว รวม 178,083 ตัวอย่าง จาก 112 ห้องปฏิบัติการ” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รายงานผลสัมฤทธิ์การประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า ทำให้การดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพและทันท่วงที เป็นผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 40,000 คนพบว่ากว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล จึงมีมติในที่ประชุมว่าเห็นควรให้ขยายการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไปอีกหนึ่งเดือนตั้งแต่ 1-31 พฤษภาคม 2563
“มาตรการที่ยังคงไว้ 4 มาตรการ คือควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยขยายการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน เพราะที่ผ่านมาสามารถควบคุมกันได้ดี ทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง การห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. การงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และงดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก” โฆษกศบค. กล่าว
ส่วนแนวทางการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องทำโดยยึดแนวคิดคือคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยอื่น ๆ มาพิจารณาคงร้อยละ 50 ของการทำงานที่บ้าน และวิธีการดำเนินการคือต้องพิจารณาจากกิจกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีวิตก่อน และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมต่าง ๆต้องเว้นระยะห่างทางสังคม การวัดอุณหภูมิในสถานที่ประกอบการต่าง ๆ มีเจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ จำกัดจำนวนคน มีแอพลิเคชั่นติดตามตัว อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินผลทุก 14 วัน หากควบคุมได้ดีขึ้น สามารถผ่อนคลายมาตรการและขยายพื้นที่ได้เพิ่ม แต่หากไม่ดีขึ้น ให้ระงับการผ่อนคลายมาตรการทันที
โฆษกศบค. กล่าวว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชนในศบค.เสนอแนวทางการผ่อนปรน ภายหลังการประกาศขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเสนอแบ่งประเภทธุรกิจจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน สามารถเปิดให้ดำเนินการได้ เช่น สถานประกอบการขนาดเล็กอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือสวนสาธารณะ สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก อาจจะติดแอร์ แต่มีมาตรการควบคุมหรือเป็นสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง พื้นที่ที่เป็นสถานที่ที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งรายละเอียดข้อเสนอทั้งหมดจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
“ตรงนี้มีการแบ่งเป็นขั้น ๆ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ แต่ต้องลงในรายละเอียด โดยกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ แบ่งเป็นกลุ่มและช่วงเวลา แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้เลือกกิจการมา แล้วเปิดให้ได้ทั้งหมดทั้งประเทศ ไม่ใช่เปิดเฉพาะบางที่หรือบางจังหวัด สมมติว่ากรุงเทพฯ เปิดไม่ได้เพราะตัวเลขสูง แต่ไปเปิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี คนกรุงเทพฯ อาจจะขับรถไปหากิจการนั้น ๆ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้จัดการการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งถ้าหากจะใช้ก็ต้องใช้กันทั้งหมด ทั้งประเทศ เพื่อที่จะประเมิน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย