นนทบุรี 22 เม.ย. – โควิด-19 ฉุดบริโภคไก่เนื้อในประเทศลดลงร้อยละ 50 เอกชนเสนอกระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาอียู-อังกฤษ เพิ่มโควตานำเข้า เพื่อลดภาระภาษี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิตผู้ส่งออก และเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก กำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย ว่า จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูปไม่มากนัก และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีปัญหาเฉพาะหน้าจะเป็นเรื่องของการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่อาจจะติดขัดบางจุด หรือมีต้นทุนสูงขึ้นจากมาตรการดูแลความปลอดภัย
ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าในอนาคตหลายประเทศมีความสนใจนำเข้าไก่เนื้อจากประเทศไทย เพราะเห็นว่าไทยมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และไทย-อังกฤษ เพื่อขอขยายโควตาปริมาณนำเข้าไก่เนื้อจากเดิมปีละ 280,000 ตัน เป็น 320,000 ตัน เพื่อให้ได้ภาษีโควตา 320 ปอนด์ต่อตัน และภาษีนอกโควตา 1,024 ยูโรต่อตัน
อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขการส่งออกไก่เนื้อปี 2562 สามารถส่งออกได้ 900,000 ตัน มูลค่า 109,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถส่งออกได้ 230,000 ตัน เป็นมูลค่า 26,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในช่วงไตรมาสแรกร้อยละ 7.21 ตลาดสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี เป็นต้น
นายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก กล่าวว่า แม้ไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกไก่จะขยายตัวร้อยละ 7.21 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 พบว่าลูกค้ามีการชะลอคำสั่งซื้อจากมาตรการล็อกดาวน์หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนออกมาหาซื้ออาหารยากขึ้นและส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปมาบริโภค เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศที่ลดลงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลงร้อยละ 50 ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อลดลง จากเดิมกิโลกรัมละ 33-34 บาท เหลือกิโลกรัมละ 24-25 บาท หรือลดลงกิโลกรัมละ 10 บาทด้วยกัน และยังเชื่อว่าหากมีความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนไปในทางเดียวกันน่าจะทำให้การส่งออกไก่ไทยจะไปในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นแน่นอน.-สำนักข่าวไทย