กรุงเทพ ฯ 10 มี.ค. – สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินถ้าราคาน้ำมันร่วง 50 % จะเป็นผลบวกต่อจีดีพีประเทศไทย 0.3% พร้อมปรับราคาน้ำมันโลกลงอยู่ที่ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ด้าน บล.เอเซียพลัส ปรับลดราคาเป้าหมายหุ้น PTT และ PTTEP
สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ออกบทวิเคราะห์ถ้าน้ำมันร่วง 50% … ใครได้ ใครเสีย? โดยได้ใช้โมเดลจากอ๊อกฟอร์ด อิโคโนมิกส์ คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศสำคัญ กรณีราคาน้ำมันร่วงลง 50% พบว่า กลุ่มอาเซียนสำคัญ ประเทศที่ GDP จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือ ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิปริมาณมาก สำหรับประเทศไทย GDP จะได้รับผลที่ดีขึ้นราว 0.3% เทียบกรณีฐาน โดยล่าสุดสำนักวิจัยฯ คาดการณ์ GDP ขยายตัวได้ 1.7% ก็อาจสูงขึ้นเป็น 2.0% แต่อาจปรับลดประมาณการณ์จากปัญหาไวรัสโควิดแทน
ส่วนประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิอย่างมาเลเซียจะได้รับผลลบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถ่านหิน อย่างอินโดนีเซียและออสเตรเลียก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วยเช่นกัน เพราะราคาสินค้าเหล่านั้นเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน
ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเองก็อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้หากปล่อยให้ราคาน้ำมันลดลงเช่นนี้ตลอดทั้งปี ถ้าซาอุฯก็ได้รับผลกระทบแรงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซาอุฯคงไม่ปล่อยให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้นาน เพราะพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ดังนั้น สำนักวิจัยฯมองว่า วิกฤติราคาน้ำมันน่าจะสงบได้ในไม่ช้า สุดท้ายราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับต่ำราว 40-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแทนที่จะอยู่ในระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลดังเช่นกรณีก่อนที่ซาอุฯจะเพิ่มกำลังการผลิตรอบนี้ ด้วยทั้งอุปทานน้ำมันที่มีมาก และจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากปัญหาไวรัสโควิดที่กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
ด้านบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ปรับลดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบปี 2563 มาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตั้งแต่ ปี 2564 เป็นต้นไป โดยคำแนะนำ กลุ่มปิโตรเลียม “เท่าตลาด” ในภาพระยะยาว ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้น ปี 2563 PTTEP อยู่ที่ 110 บาท/หุ้น (เดิม 170 บาท) และ PTT อยู่ที่ 42 บาท/หุ้น (เดิม 55บาท/หุ้น) .-สำนักข่าวไทย