กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – เกษตรฯ เดินหน้าตามแผนปฏิบัติการปี 63 หลังรับงบ 1.09 แสนล้านบาท เน้น 4 กลุ่มงานหลัก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท สำหรับงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วงเงิน 109,113 ล้านบาท จึงสั่งการให้ทุกหน่วยเร่งรัดดำเนินการตามแผนงาน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,536 ล้านบาท 2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) 32,667 ล้านบาท 3.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) วงเงิน 7,914 ล้านบาท และ 4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) 14 แผนงานที่กระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 42,996 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 41,033 ล้านบาท เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่ออาชีพเกษตร อีกทั้งต้องเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน
สำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็น 1 ใน 14 แผนงานบูรณาการ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ทำหน้าที่ประสานงาน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการร่วมกัน 6 กระทรวง 24 หน่วยงาน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,018 ล้านบาท ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,631 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 1,034 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 171 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 107 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม 42 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 33 ล้านบาท โดยมีหลักการในการดำเนินการ คือ ดูแลและยกระดับประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อลดปัญหาความยากจนของประชาชน คาดว่าประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
”งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรฯ เน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้กำหนดแนวทางให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นต้นทาง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 200,000 ราย จัดที่ดินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยกองทุนชุมชนเพื่อให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกฎหมายกำหนด เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ รวมถึงลด ปลด หมดหนี้ พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 500,000 ราย พัฒนาองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ส่งเสริมและสร้างทักษะอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร เป็นต้น
การพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งเป็นกลางทาง ประกอบด้วย พัฒนากลุ่มเกษตรกร 1,900 กลุ่ม พัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 24,800 ราย ในการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ OTOP และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 5,900 ผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาดซึ่งเป็นปลายทางเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนร้อยละ 10 โดยส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชน สร้างศักยภาพผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก การค้าธุรกิจชุมชน ตลาดออนไลน์ พัฒนาระบบประกันภัย ติดตามประเมินผลภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก.-สำนักข่าวไทย