กรุงเทพฯ 1 มี.ค.- “อนุทิน ” แจงข่าวเตรียมชงพ.ร.บ.มั่นคงฯ ปราบผู้ชุมนุมเป็นเรื่องเท็จ ยืนยันสนันสนุนการชุมนุมตามสิทธิ ตามกรอบ รธน. วอนอย่านำการเมืองมาซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊ค หัวข้อ “อย่านำการเมือง” มาซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด โดยระบุว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นความเท็จ ส่วนตัวไม่เคยคิดถึงพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาก่อน และไม่เคยคิดสกัดกั้น หรือห้ามการชุมนุมทางการเมือง เพื่อแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพทางความคิดและการพูดของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มใด ๆ ก็ตาม หากการชุมนุมนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ซึ่งการแถลงข่าวในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (29 ก.พ.) มีขึ้นภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการระบาด การควบคุมโรค และ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคระบาด และสาระสำคัญของการประชุม คือ การหาแนวทางการควบคุมการระบาดของ covid-19 ซึ่งถูกประกาศ เป็นโรคติดต่ออันตราย และจะต้องมีการจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ว่ากิจกรรมใดควรทำ กิจกรรมไม่ควรทำ เพื่อการควบคุมการระบาดของโรคติดต่ออันตราย
เช่นไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่เขตติดโรค แต่หากต้องไป หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ต้องถูกกักบริเวณ 14 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค แม้จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องประกาศและต้องควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น ไม่ควรจัดกิจกรรมทุกประเภท ที่จะก่อให้เกิดการมารวมตัวกัน หรือ การชุมนุมของประชาชนจำนวนมากหลายพันคน และมีโอกาสที่จะมีการสัมผัส หรือการติดต่อทางลมหายใจ และละอองน้ำลาย น้ำมูก จากการพูด ไอ จาม ใส่กันในระยะใกล้
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้จัดต้องจัดเตรียมแนวทาง และให้บริการอุปกรณ์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย กรณีที่มีการติดต่อของโรคเกิดขึ้น ผู้จัดกิจกรรม และเจ้าของสถานที่ ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกคำสั่งระงับการจัดกิจกรรมได้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ
นายอนุทิน กล่าวว่า การประกาศให้ covid-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย กระทบต่อการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากพอสมควร แต่เป้าหมายคือต้องการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อและป้องกันชีวิต รวมถึงสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่การควบคุมหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ก่อนที่จะมีการประกาศโรคติดต่ออันตราย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเคยให้คำแนะนำว่า ไม่ควรจัดการชุมนุมทางการเมือง เพราะเป็นโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดของ covid-19 ได้ ทำให้อธิบดีกรมควบคุมโรคถูกตำหนิและถูกวิจารณ์จากผู้ต้องการให้มีการชุมนุมอย่างรุนแรงว่า มีเป้าหมายอื่นซ่อนเร้น และไม่ควรนำการระบาดของ covid-19 มาเป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมการชุมนุมหวาดกลัว
การประชุมเมื่อวานนี้ ได้นำประเด็นการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง มาพิจารณาในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว หากนายแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในฐานะเจ้าพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ทันที ส่วนตนเองในฐานะนักการเมือง ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาจะแถลงเรื่องการชุมนุมทางการเมือง เพราะทราบดีว่าจะถูกแปรเจตนาเป็นอื่น และถูกกล่าวหาหวังผลทางการเมือง
แต่สอบถามนายแพทย์ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหลายคนที่เข้าประชุมแล้ว เข้าใจดีว่า ทุกคนไม่อยากพาดพิงเรื่องการชุมนุมทางการเมือง แต่มีความกังวลว่า การควบคุมการระบาดของ covid-19 ที่ประเทศไทยทำมาได้ดี อาจจะมีจุดเสี่ยงและถึงจุดเปลี่ยนได้ หากมีการติดเชื้อในที่ชุมนุม ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมหลายพันคน และอาจจะนำสู่ผู้สัมผัสเป็นหมื่นคนภายในเวลาอันรวดเร็ว หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมโรคได้ และจะทำให้ประเทศไทย เข้าสู่สถานการณ์ระบาด เช่นเดียวกับบางประเทศที่มี super spreader และควบคุมโรคไม่ได้
ตนจึงต้องแถลงด้วยตัวเอง แต่ย้ำหลายครั้งว่า ไม่ห้ามการชุมนุม เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้เจ้าของสถานที่ และผู้จัดการชุมนุมจัดการชุมนุมอย่างมีความรับผิดชอบ และแจ้งความห่วงใยของอาจารย์แพทย์ให้ทราบว่ามีความห่วงใยต่อสถานการณ์การระบาดของโรค อย่างไร ย้ำว่า ไม่มีเรื่อง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อมีนักข่าวถาม ตนก็ตอบว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแลเรื่องความมั่นคง ต้องไปถามฝ่ายความมั่นคง และในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข พูดคุยถึงพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับเดียว เพื่อการควบคุมโรค เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่นำเสนอข่าวว่า ตนหรือกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ สกัดกั้นการชุมนุม โดยอ้างเหตุการควบคุมโรคติดต่ออันตรายจึงเป็นการเสนอข่าวเท็จทั้งสิ้น.-สำนักข่าวไทย