นนทบุรี 9 ก.พ.- กรมสุขภาพจิต เตรียมแผนเยียวยาจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิง 3 ระยะ พบส่วนใหญ่อยู่ในภาวะหวาดกลัว
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อดูแลสภาพจิตใจ ของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากเหตุการณ์กราดยิง ที่ จ.นครราชสีมา จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ว่า เบื้องต้นกรมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลจิตเวชจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว
ล่าสุด มีการประเมินสถานการณ์ พบว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ยังมีความตกใจกลัวและยังหวาดกลัวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ที่มีอาการดีขึ้นสามารถให้กลับบ้านได้ และจะมีการติดตามต่อเนื่อง
สำหรับวันนี้ (9ก.พ.) มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ EOC ที่โรงพยาบาลจิตเวช จ.นครราชสีมา และเตรียมทีมวิกฤติสุขภาพจิตในพื้นที่และในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งหมด 6 แห่ง เพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แยกเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มได้รับบาดเจ็บ กลุ่มที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิต ต่อไปจะลงไปพูดคุยกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ อาจเกิดภาวะเครียดจากการปฏิบัติงานอย่างหนัก
สำหรับแผนดำเนินงานมีการวางแผนไว้ 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการดูแลเบื้องต้น ระยะที่ 2 เป็นการดูแลติดตาม ระยะที่3 คือการฟื้นฟูสภาพจิตใจ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกยังตอบยากเรื่องภาวะซึมเศร้า แต่ในระยะแรกที่พบคือปฏิกิริยาของการตกใจ ตระหนก ตื่นตระหนก และความรู้สึกสับสน โดยเป็นหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตในการปลอบโยน ลดความเครียด เพื่อนำไปสู่การปรับตัวได้มากที่สุด พร้อมคำแนะนำหรือที่เรียกว่าการปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น หลังจากนั้นจะให้คำปรึกษาเชิงลึกต่อไป.-สำนักข่าวไทย