รัฐสภา 7 ก.พ. -กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ รธน. เบรกแก้มาตรา 256 ยกหมวดสิทธิและเสรีภาพมาพิจารณาแทน เชื่อจะได้รับความเห็นชอบทั้งสภา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยว่า อนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพิจารณา และนำเสนอต่อที่ประชุม เทื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีความเห็น 2 แนวทาง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ฝ่ายแรกเห็นว่าควรแก้ไข เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น และอีกฝ่ายมีความเห็นคัดค้าน ซึ่งรวมความเห็นตนด้วย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการจัดทำประชามติ 3,000 ล้านบาท และมาตรา 256 เป็นการป้องกันเสียงข้างมากลากไป และไม่ให้เกิดการฟ้องร้องที่มาของ ส.ว. แบบปี 2550 เนื่องจากความไม่เห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ แม้จะอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้เป็นสากล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ ยากกว่านี้ เช่น ญี่ปุ่น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติให้พักการพิจารณาแก้ไข มาตรา 256 ไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียเวลา และไม่เกิดผลดีต่อคณะกรรมาธิการฯ และให้นำเรื่องเมื่อสิทธิและเสรีภาพ มาตราที่ 25-45 มาพิจารณาแก้ไข เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งตนคิดว่าประเด็นนี้จะได้รับความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยไม่ต้องแก้มาตรา 256 ก่อน ถือเป็นกลุ่มแรกที่กระทำได้เลย เชื่อว่า หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพ้นวาระไปแล้ว น่าจะต้องยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่สองจะมีประเด็นที่จะพิจารณาเรื่องบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบหรือสองใบ และประเด็นที่มีปัญหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ ของพรรคการเมือง ก็อาจจะยังไม่สามารถหาความเห็นร่วมกันในช่วงที่คณะกรรมาธิการฯ กำลังศึกษา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ขณะที่ กลุ่มที่สาม น่าจะมีปัญหาไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลได้แก่ มาตรา 256 รวมทั้ง การตั้ง สสร. และการแก้ไขบทเฉพาะกาล ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพื่อให้ ส.ว. ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน.- สำนักข่าวไทย