กรุงเทพฯ 15 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานขอความร่วมมือเกษตรกร งดการเผาทุกชนิดในพื้นที่เกษตร บรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมให้ความรู้ใช้จุลินทรีย์หมักตอซังก่อนไถกลบ กำชับหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ช่วยลดฝุ่นและบรรเทาภัยแล้งทั่วประเทศ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ห่วงใยปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ เกษตรกรจำนวนมากยังคงนิยมเผาวัชพืช ตอซัง และเศษวัสดุทางการเกษตร ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพรุนแรงขึ้น จึงสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรงดการเผา อีกทั้งให้พัฒนาที่ดินจังหวัดเข้าให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด. 2 หมักวัชพืชและตอซังในไร่นา แล้วไถกลบซึ่งจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชที่เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่เจริญเติบโตดีต่างจากการเผาจะทำให้หน้าดินเสีย อีกทั้งทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
นอกจากนี้ สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากพบบริเวณใดมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้บินขึ้นปฏิบัติการทันที เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งช่วยให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค ช่วยภาคเกษตรกรรม เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการ ดับไฟป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าไม้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า เตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร อากาศยาน เครื่องมือ และสารฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการลดฝุ่นละออง PM 2.5 และบรรเทาภัยแล้งตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กรมฝนหลวงฯ ซ่อมบำรุงอากาศยานและฝึกทบทวนบุคลากรด้านการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการทำงานและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่จัดหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 3 ชุด ประกอบด้วย เครื่องบิน CASA 2 ชุด ๆ ละ 2 ลำและเครื่อง Cessna Caravan 1 ชุด ๆ ละ 3 ลำ ประจำอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์ พร้อมบินปฏิบัติการทั่วประเทศ จากการที่กรมอุตนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เกรงว่าภัยแล้งจะรุนแรงจึงสั่งการให้ร่นการเปิดศูนย์ฝนหลวงตามแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งปกติเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยทำฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่.-สำนักข่าวไทย