รัฐสภา 24 ธ.ค.-7 พรรคร่วมฝ่ายค้านหนุนแนวทางตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ วอนทุกฝ่ายร่วมมือ เชื่อแก้ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเริ่มแก้ที่มาตรา 256
นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งตนชิงตำแหน่งประธาน กมธ. และส่งคนชิ่งตำแหน่งอื่น แม้จะไม่ชนะ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อ กมธ.มีหน้าที่ศึกษาปัญหาหลักเกณท์แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงอยากเห็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เพราะหากไม่ร่วมมือกัน จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเห็นว่าทางที่ดีที่สุด ควรมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 และเมื่อร่างแล้วก็นำไปทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมได้เป็นอย่างดี โดยกระบวนการจัดทำนั้น จะต้องเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม เชื่อว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายให้เดินไปในวิถีทางนี้ร่วมกัน ซึ่งหากเห็นด้วย ทางฝ่ายค้านก็มีพิมพ์เขียวที่ยกร่างไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตามแนวทางนี้
นายโภคิน ยืนยันว่า ไม่มีพรรคไหนได้ประโยชน์จากการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่ทราบว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นอย่างไร มีเพียงหมวด 1 และหมวด 2 ที่เหมือนเดิม จึงไม่กังวลว่าทำงานฟรี เพราะมีหน้าที่ต้องทำงาน และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นที่มาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากพรรคร่วมรัฐบาล , ส.ว. และพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วยกับแนวทาง ส.ส.ร. มาตรานี้ก็ไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายหากไม่มีใครคัดค้าน ก็ผ่านหมดอยู่แล้ว แต่หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคัดค้าน ก็แก้ไม่ได้ ดังนั้นหากทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลเห็นชอบ ก็จะเดินหน้าไปได้
“ถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบด้วยกับหมวดนี้ หมวดนี้ก็จะเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะเดินหน้าเรื่อง ส.ส.ร.เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และเราหวังว่าถ้าอยากจะเดินหน้าประเทศด้วยกันเช่นนี้ และครั้งนี้ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญของใคร หรือใครไปร่างมา หรือต่อว่าต่อขานว่าทำประชามติ ก็ไม่ยุติธรรม มีการกดดันฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เราตัดปัญหานี้ออกไปเลย มาทำกันอย่างยุติธรรม อย่างเปิดเผย ให้บ้านเมืองเดินไปแบบนี้ ฟังทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เราไม่อยากได้อย่างนี้เหรอ ดังนั้นต้องช่วยกันเชิญชวน ส.ว.ทุกท่าน ฝ่ายรัฐบาล และทุกคนมาร่วมมือกัน เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ มองไม่ออกว่าจะมีการไปสั่งให้ใครร่างอะไร” นายโภคิน กล่าว
ส่วนการรณรงค์นอกสภาฯ นั้น นายโภคิน กล่าวว่า ในกระบวนการศึกษา ควรต้องให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชน และต้องรับฟังให้รอบด้าน ขณะเดียวกัน นอกสภาฯ ในวงวิชาการและภาคประชาชน มีสิทธิ์แสดงความเห็นและมีสิทธิ์ที่จะบอกว่าอยากเห็นอะไรและอยากได้อะไร ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ยังเห็นด้วยที่จะให้เปิดเผยการประชุมของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาในเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย