นนทบุรี 20 ธ.ค. – รมว.พาณิชย์ KICK OFF ประกันรายได้ข้าวโพด ย้ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 330,000 ราย ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างงวดแรกตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ถือว่ารัฐบาลสามารถประกันรายได้ให้กับผู้ปลูกพืชเกษตรสำคัญครบ 5 ชนิดแล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ KICK OFF การจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/2563 งวดแรก จากราคาเกณฑ์กลาง ณ วันที่ 20 ธันวาคม กิโลกรัมละ 8.21 บาท เทียบกับราคาเป้าหมาย กิโลกรัมละ 8.50 บาท มีส่วนต่างที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้ในการจ่ายชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรกิโลกรัมละ 29 สตางค์
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 และเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 19 ธันวาคม 2562 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ความชื้นไม่เกิน 14.5% ขณะที่การคำนวณปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ใช้ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ 724 กิโลกรัมต่อไร่ คูณด้วยจำนวนไร่ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ หากเกษตรกรขึ้นทะเบียนสูงสุด 30 ไร่ จะได้วงเงิน 6,298 บาทต่อครัวเรือน
สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างพืชทั้ง 5 ชนิด แบ่งเป็น ข้าว โอนเงินให้เกษตรกรประมาณ 780,000 ราย วงเงิน 16,000 ล้านบาท ยางพาราโอนแล้ว 840,000 ราย วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ปาล์มน้ำมันโอนให้เกษตรกรแล้ว 320,000 ราย วงเงินประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งจากมาตรการคู่ขนาน เช่น การผลักดันส่งออก และคุมเข้มการลักลอบนำเข้า ส่งผลให้ขณะนี้ราคาผลปาล์มดิบขยับขึ้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 5.80 บาท สูงกว่าราคาประกัน 4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร ส่วนมันสำปะหลัง โอนให้เกษตรกรแล้วกว่า 2,700 ราย จากขึ้นทะเบียน 520,000 ราย ที่ยังล้าช้า เนื่องจากเกษตรกรยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้วงเงินประมาณ 64 ล้านบาท และการจ่ายเงินส่วนต่างข้าวโพดงวดแรก คาดว่าจะจ่ายให้เกษตรกรได้กว่า 100,000 ราย วงเงิน 330 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการการประกันรายได้จะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 2 ล้านครัวเรือน ภายใต้วงเงินกว่า 67,000 ล้านบาท รวมกับมาตรการเสริม อาทิ วงเงินสินเชื่อเพื่อให้สถาบันเกษตร รับซื้อไปเก็บไว้ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า เพื่อดูแลราคาพืชทั้ง 5 ชนิด อีกกว่า 120,000 ล้านบาทเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย