รัฐสภา 22 พ.ย.- “ไพบูลย์” ย้ำ การเข้าทำหน้าที่ กมธ.ป.ป.ช. ไม่ได้เข้าไปเพิ่มความขัดแย้ง หรือ มุ่งปลด “เสรีพิศุทธ์” ยืนยัน ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปัดตอบชัด “พล.อ.ประวิตร” มอบหมายมาหรือไม่
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคมีมติให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แทนนายดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ยืนยันว่าการเข้าไปทำหน้าที่นี้ ไม่ได้เข้าไปเพื่อเพิ่มความขัดแย้ง แต่พรรคคงเห็นว่าเคยมีประสบการณ์เป็นประธานกรรมาธิการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของวุฒิสภามาหลายปี จึงน่าจะเป็นประโยชน์ และสัดส่วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในคณะกรรมาธิการชุดนี้มีเพียง 3 คน จึงปรับให้เหมือนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นๆ ที่มี 4-5 คน
“ยืนยันว่า การเข้าทำหน้าที่แทนนายดล ไม่ได้เบียดเบียนโควต้าของพรรคชาติพัฒนา เป็นเพียงการสับเปลี่ยน เพื่อให้นายดลไปอยู่คณะกรรมาธิการที่เหมาะสม เพราะผมมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า และน่าจะมีการแจ้งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทราบภายในวันนี้” นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนกระแสข่าวว่าเป็นการมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อคานอำนาจในคณะกรรมาธิการ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่มอบหมายมาให้ทำงาน ยืนยันว่า การเข้าทำหน้าที่นี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
“ความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการหลายเรื่อง อาจเกิดจากความไม่เข้าใจกฎหมาย ดังนั้น การเข้าไปทำหน้าที่จะทำให้มีความชัดเจนขึ้น ให้ข้อมูลด้านกฎหมายได้ เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับประเพณีปฏิบัติ และนำไปสู่ความเรียบร้อย” นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนข้อสังเกตว่าจะเข้าไปเพิ่มเสียงของกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล เพื่อปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ในสัปดาห์หน้า นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ และว่า เป็นเรื่องที่สมาชิกจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ส่วนตัวไม่ได้จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อปลดประธานกรรมาธิการ แต่จะทำงานตามกฎหมายและความถูกต้อง และเหไนว่า การทำหน้าที่ของนายสิระ เจนจาคะ และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามเอกสิทธิ์ และเป็นไปในแนวทางที่จำเป็นต้องทำ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า บทบาทการทำงานในคณะกรรมาธิการกับเรื่องส่วนตัวต้องแยกกัน ประธานกรรมาธิการต้องทำตามหน้าที่ ทำเกินหรือขาดไม่ได้ หากตนได้เข้าไปทำงาน เชื่อว่าคงจะมีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการ แม้จะเคยมีกรณีฟ้องร้องกับตนมาก่อน ก็คงไม่มีปัญหา เพราะพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็มีวุฒิภาวะ แยกแยะได้ว่าเข้ามาทำงาน ไม่ได้เข้าเพื่อไปมีปัญหา
สำหรับกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ โดยไม่มีมติที่ประชุม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องรอเข้าไปทำหน้าที่ แต่คิดว่าเรื่องนี้ควรจะพักเอาไว้ และหยิบประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การให้ความเห็นของนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ บางเรื่องก็อาจเกินเลยไปบ้าง . – สำนักข่าวไทย