กรมการแพทย์ 15ต.ค.-แพทย์เผยภาวะหมดไฟ หรือ Burn out เป็นปรากฏ การณ์ทางอาชีพ ไม่ใช่โรค เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ หากมีอาการรู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้าเบื่อหน่ายตลอดเวลา หมดความสนใจในงานที่ทำ ควรหาเวลาพักผ่อน แบ่งเวลาระหว่างเรื่องงานกับบ้านให้ชัดเจน หรือปรึกษาแพทย์
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Burn out หรือภาวะหมดไฟ เป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ (occupational phenomenon) ไม่ใช่เป็นโรค (medical condition) และเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งได้จัดอยู่ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรค และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับที่ 11 โดยมีรหัสกำหนดในหมวด Z คือ “ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะ” เพราะเล็งเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญ คุกคามสุขภาวะ และอาจจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือแม้กระทั่งปวดหัวชนิดเทนชั่น หรือโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตระหนักถึงภาวะ Burn out หรือกลุ่มอาการ (Syndrome) ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งยังไม่ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งลักษณะอาการใน 3 กลุ่ม คือ 1. รู้สึกหมดพลังหรือเหนื่อยล้า 2. รู้สึกว่าจิตใจห่างเหินจากงานและมีทัศนคติด้านลบต่องาน 3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอาจส่งผลต่อบุคลากรในโรงพยาบาล จึงแนะนำถึงวิธีการป้องกันการนำมาสู่ภาวะดังกล่าว คือ ต้องแบ่งขอบเขตระหว่างงานและบ้านให้ชัดเจน หาเวลาพักผ่อน ปิดสวิทซ์งานเมื่ออยู่บ้าน อย่าเป็นทุกข์อยู่คนเดียว ต้องบอกเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย .-สำนักข่าวไทย