กรุงเทพฯ 10 ต.ค.- หลัง กทม.ต้องตกเป็นอันดับ 1 ของโลก เรื่องเมืองที่ฝุ่นพิษสูงสุด หลายฝ่ายก็พยายามหาทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง ยิ่งล่าสุดมีคำเตือนจากกรมอุตุฯ ว่าอากาศในกรุงเทพฯ จะกลับมาเสี่ยงมีฝุ่นอีกครั้ง จึงเกิดความพยายามครั้งใหม่ที่จะลดปัญหา
สูงเด่นเป็นสง่า ตั้งตระหง่าน อยู่ริมถนนหน้าห้างดังใจกลางเมือง หลายคนทักแลดูคล้ายขวดสุรา แท้จริงมันคือ เครื่องฟอกอากาศยักษ์ สูง 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร หนักกว่า 200 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เป็นความพยายามล่าสุดของ กทม.ที่จับมือร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และเอกชน รังสรรค์ขึ้นเป็นเครื่องแรก และทดลองใช้ครั้งแรกเมื่อเช้าวันนี้
เครื่องจะทำงานอัตโนมัติ โดยใช้หลักการดึงอากาศจากรอบตัวเครื่องด้วยพัดลมขนาดใหญ่ ผ่านแผ่นกรองฝุ่น 4 ชั้น ชั้นแรกกรองไอน้ำมัน ชั้น 2 และ 3 กรองฝุ่น และมลพิษขนาดใหญ่ หรือ PM 10 และชั้นที่ 4 สามารถกรองฝุ่นขนาด PM 1 ซึ่งเล็กว่า PM 2.5 ก่อนปล่อยอากาศบริสุทธิ์ทางด้านบน เครื่องนี้สร้างอากาศบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 17,000 ลบ.ม./ชม. หรือครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตร.ม.
ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำว่า เครื่องฟอกอากาศยักษ์ กทม.ยังไม่ได้เสียเงินซื้อแม้แต่บาทเดียว เป็นการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องที่เอกชนได้นำเสนอมาขาย วัดความคุ้มค่า ก่อนนำมาพิจารณาในอนาคต รวมถึงค่าไฟชั่วโมงละ 10 บาท เจ้าของสถานที่เป็นผู้รับผิดชอบ แผนเดิมจะเปิดเครื่องในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น แต่ในช่วงแรกจะเปิดทดลองตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ส่วนเสียงก่นด่าว่าอาจไร้ประโยชน์ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ พ่อเมืองหลวงก็พร้อมน้อมรับ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หากนิ่งเฉยก็โดนด่าไม่ต่างกัน จึงเลือกทำดีกว่า
ผลการทดสอบในช่วงเช้าก่อนเปิดเครื่องฟอกอากาศ วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ 31 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หลังเปิดใช้ 3 ชั่วโมง วัดค่าได้ 28 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แม้ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำแม้จะน้อยมาก แต่ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องรอผลประเมินใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 24 ชั่วโมง ระยะกลาง 3-7 วัน และระยะยาว 1 เดือน ก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงาน ว่าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 เจ้าปัญหา ได้คุ้มค่ากับเงินล้านที่จะต้องจ่ายหรือไม่.-สำนักข่าวไทย