กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – กรมชลประทานจำเป็นต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำเหนือหลากลงมาเพิ่ม พื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดท้ายเขื่อนลงมาถึงอยุธยาระดับน้ำจะสูงขึ้น เตือนประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ย้ำจะควบคุมระดับน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนเจ้าพระยาจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนักและฝนตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น เมื่อเวลา 18.00 น.วานนี้ (3 ก.ย.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 1,141 ลบ.ม./วินาที จากนั้นไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้บริหารจัดการน้ำ โดยใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับฝั่งตะวันออก ผันน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักและคลองชัยนาท-อยุธยา ส่วนฝั่งตะวันตก คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำสุพรรณ แม่น้ำน้อย และเขื่อนพระรามหกรับน้ำส่งเข้าคลองระพีพัฒน์แยกตกและแยกใต้ลงสู่อ่าวไทย ยืนยันว่าการรับน้ำเข้าคลองในระบบชลประทานตามศักยภาพของคลอง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมคลองและจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร
“กรมชลประทานทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เพื่อให้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด อีกทั้งหากมีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากจากทางตอนบนมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจะได้แจ้งให้ทุกฝ่ายทราบต่อไป” นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำแบบจำลองสถานการณ์รับน้ำหลากจากภาคเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าการระบายน้ำในอัตราเท่าไรจะส่งผลกระทบพื้นที่ใดบ้าง หากระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่อัตรา 700 ลบ.ม./วินาทีจนถึงอัตรา 2,840 ลบ.ม./วินาที โดยตั้งแต่ระดับ 700 – 2,000 ลบ.ม./วินาที น้ำจะเริ่มเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ส่วนแม่น้ำน้อย หากระบาย 2,000-2,200 ลบ.ม./วินาที จะเอ่อท่วมอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรีและพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี วัดไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง หากระบายเพิ่มที่อัตรา 2,200-2,400 ลบ.ม/ต่อวินาทีจะท่วมอำเภอโพนางดำและสรรพยา จังหวัดชัยนาท วัดเสือข้าม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง กรณีที่ต้องระบายมากกว่า 2,400 ลบ.ม./วินาทีจะท่วมตำบลบ้านท่าทราย อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สำหรับอัตราที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ คือ ระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 3,500 ลบ.ม./วินาทีน้ำจะท่วมอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจะส่งผลกระทบพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลด้วย
ดังนั้น กรมชลประทานขอให้ประชาชนคอยรับฟังข่าวสารจากทางราชการเท่านั้นและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร หากต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านหรือ โทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน.-สำนักข่าวไทย