สธ.19 ส.ค.-สธ.แนะนักวิ่งมาราธอน ชายอายุ 50ปี – หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป รับการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ก่อนวิ่งพักผ่อนให้พอ งดดื่มสุรา ขณะที่ผู้จัดงานต้องปฏิบัติตามคู่มือการจัดกิจกรรมของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ
นพ.สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.)ให้สัมภาษณ์กรณีนักวิ่งเสียชีวิตซึ่งมีข่าวเป็นระยะ ๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนับสนุนให้คนไทยออกกำลังกาย ซึ่งการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ดีผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีและผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ขอให้ไปรับการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ประเมินภาวะและความเสี่ยงสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ เพื่อให้ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอนที่ต้องวิ่งต่อเนื่องในระยะทางไกลจะ ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัวให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีความเข้มข้นสูงและระยะเวลานาน มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ประเมินร่างกาย และต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมก่อนวิ่งทั้งระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้
นักวิ่งจึงควรทานอาหารคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้นก่อนวิ่ง 1 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุรา และเช้าวันวิ่งควรทานอาหารที่ไม่หนัก เช่น นม กล้วย นอกจากนี้ ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตากันแดด ครีมกันแดด
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การวิ่งมาราธอนในระดับโลกนั้น สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน โดยเน้นที่การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้เข้าร่วมแข่งขัน สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการนำมาพัฒนาต่อยอดโดยคณะ กรรมการมาตรฐานการจัดงานวิ่งไทย ด้วยการสนับสนุนจากสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย สสส.และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2557 และปรับปรุงในปี 2562
ในคู่มือได้ระบุการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนไว้ชัดเจนว่าการจัดการแข่งขัน วิ่งมาราธอนต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทางการแข่งขัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ หรือตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล
นอกจากนี้จุดบริการปฐมพยาบาลหลักควรมีเครื่องมือและบุคลากรเทียบ เท่าจุดให้บริการทางการแพทย์หลังเส้นชัย จุดบริการปฐมพยาบาลระดับรองลงไปควรตั้งอยู่คู่กับจุดให้น้ำ เพื่อปฐมพยาบาลและช่วยให้นักวิ่งคลายความไม่สบายกาย เล็กๆน้อยๆเช่น อาการพองและเสียดสีและเพื่อขนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปยังสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์รองรับที่เหมาะสมต่อไป ควรมีจุดบริการปฐมพยาบาลทุก 5 กิโลเมตร และตั้งอยู่ในระยะประมาณ 100 เมตร หลังจากจุดให้น้ำ .-สำนักข่าวไทย