กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – พพ.จัดสื่อสัญจรศึกษาความสำเร็จเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อปโรงงานผลิตยางรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ 1 เมกะวัตต์ โชว์ประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในโรงงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้ากว่า 5 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 ต่อปี
นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย ภายหลังเยี่ยมชมโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอาคารของภาคเอกชน จังหวัดชลบุรี ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนและภาคประชาชนตื่นตัวในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในโรงงานรูปแบบผลิตไฟฟ้าใช้เองในช่วงเวลากลางวัน ช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในโรงงานช่วงพีค หรือ ช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน ซึ่งมีค่าไฟฟ้าสูงสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
ทั้งนี้ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์เพื่อการส่งออกได้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ขนาดประมาณ 5,800 ตารางเมตร สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 5 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 จากเดิมมีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 42 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจากการประเมินการลงทุนโครงการดังกล่าวของบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปี
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น. ดี. รับเบอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางของราคาการติดตั้งแผงโซลาร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาราคาปรับลดลงจากระดับกว่า 150,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ลงเหลือ 30,000 บาทต่อกิโลวัตต์ โดยจะเห็นว่าภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจังผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน และยังส่งผลดีต่อการยืดระยะเวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย