สธ. 9ก.ค.-เข้าพรรษานี้ จิตแพทย์แนะผู้ต้องการงดสุราให้ค่อยๆลดปริมาณการดื่มลงเรื่อยๆ ก่อนงด ป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2560 พบว่าจากจำนวนประชากรอายุ15 ปีขึ้นไป 55.9 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปีที่แล้วประมาณ15.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 โดยเป็นผู้ดื่มสม่ำเสมอ 6.98 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 12.5 และเป็นผู้ที่ดื่มนานๆ ครั้ง 8.91 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.9 ,ในกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการดื่มสูงสุดร้อยละ 36 กลุ่มอายุ20-24 ปีดื่มสุราร้อยละ33.5 กลุ่มอายุ45-49 ปีดื่มสุราร้อยละ 31.1 กลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ดื่มสุราร้อยละ 15.2 และกลุ่มเยาวชน อายุ15-19ปี มีอัตราการดื่มต่ำสุด ร้อยละ13.6
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การดื่มสุราเป็นอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งปัญหาสุขภาพ เช่น การบาดเจ็บที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุจราจร การเจ็บป่วย อาทิปวดหัว แผลในกระเพาะ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ วิตกกังวล ซึมเศร้า อีกทั้งการใช้สุราในทางที่ผิดและการติดสุรา มักพบร่วมในผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่น ตัวอย่างเช่น ผู้ติดสุราจะเสี่ยงต่อการเกิดโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า2.1-4.8 เท่าและโรคจิต 6 เท่า ผู้ที่ซึมเศร้าเมื่อดื่มหนักจะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง การดื่มหนักจะทำให้อาการซึมเศร้าและโรควิตกกังวลแย่ลง และการดื่มสุราจะทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทมีผลการรักษาไม่ดี เป็นต้น
สำหรับลักษณะอาการถอนพิษสุรา คือผู้ที่ติดสุราหรือดื่มหนักมากหรือดื่มติดต่อกันหลายวัน เมื่องดหรือหยุดดื่มสุราจะเกิดอาการขาดสุรา หากเกิดระดับไม่รุนแรงมักเกิดขึ้นใน2-3 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุราจะเริ่มมีอาการวิตกกังวล รู้สึกกระวนกระวายเบื่ออาหาร มือสั่น ใจสั่น อาการจะเริ่มหายไปใน 48 ชั่วโมง
ส่วนอาการขาดสุราระดับรุนแรง มักเกิดขึ้นหลังงดหรือหยุดดื่มสุรา 12-48 ชั่วโมง เริ่มจากอาการแสดงออกระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากผิด ปกติ บุคคลเกิดความสับสนอย่างมาก พร้อมกับอาการมือสั่น ตัวสั่น
นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง ในวันที่ 3-4 ของการงดดื่มสุรา ทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือเกิดอาการชักได้
‘ดังนั้นกรมสุขภาพจิตขอแนะนำผู้ติดสุราที่ตั้งใจจะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ว่าควรค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะงด โดยเริ่มลดตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเข้าพรรษา 17 ก.ค.ก็จะสามารถเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากต้องการงดหรือหยุดดื่มทันทีก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด โดยแพทย์จะให้ยารับประทาน เพื่อลดการเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง ทำให้ผู้ต้องการงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถงดได้ตามความต้องการอย่างปลอดภัย’ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย