สจล.13 มิ.ย.- สจล.เสนอ กทม.ทำแก้มลิงใต้ดิน 2จุดแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่วิกฤติย่านสุขุมวิท-อโศก และวิภาวดี-บางซื่อ
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลนีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็น “การรับมืออุทกภัยในกรุงเทพฯ เมืองที่เติบโตอย่างไม่สิ้นสุด”
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร(กทม.)ถือว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะ ซึ่งมีระดับต่ำกว่าน้ำทะเลมากถึง 2 เมตรโดยเฉพาะจุดต่ำคืออยู่ที่บริเวณ รามคำแหง หัวหมาก และพระราม9 จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังทุกครั้งที่เกิดฝนตก ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังของกรุงเทพฯทำได้อย่างเดียวคือการสูบน้ำ และลำเลียงอออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้ไวที่สุด โดยการใช้เครื่องสูบน้ำ หากเครื่องสูบน้ำจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหาจึงส่งผลให้ระบบการระบายน้ำทั่วพื้นที่กรุงเทพฯทันที ทำให้เกิดภาวะน้ำขังรอการระบาย
ส่วนการสร้างอุโมงค์ยักษ์ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ยังมีข้อจำกัดคือการที่จะส่งน้ำลงอุโมงค์ยักษ์ได้จะต้องผ่านการลำเลียงน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำเพราะน้ำไม่สามารถไหลตามแรงโน้มถ้วงของโลกได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อุโมงค์ยักษ์ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเกิดจากน้ำบนพื้นดินไม่สามารถไหลเข้าอุโมงค์ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเกิดปัญหาต่างๆ อาทิ เครื่องสูบพัง พื้นที่กายภาพไม่เอื้ออำนวยให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ดูแล พูดง่ายๆว่า เป็นหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ขอนำเสนอ ให้กทม.ควรจะเปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำหรือตัวเปิดปิดประตูกั้นระดับน้ำทะเลเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมดเพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบระดับน้ำและคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกลงมาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำแล้ว ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เครื่องสูบน้ำและการควบคุมเปิดปิดประตูได้อย่างทันเวลา
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม.ในระยะยาวจะต้องมีการทำแก้มลิงใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำและรอสูบออกในช่วงที่ฝนหยุด ระดับน้ำในคลองต่างๆลด หรืออาจเก็บไว้สูบออกช่วงฝนแล้งก็ได้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่เป็นจุดวิกฤติอยู่ในย่านสุขุมวิท เพลินจิต จะต้องพิจารณาก่อสร้างพื้นที่แก้มลิง จุดที่ตนเองมองว่าเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง คือ ใต้บริเวณโรงงานยาสูบ ส่วนย่านพื้นที่วิภาวดีฯ บางซื่อ พหลโยธิน และรัชดาภิเษกตอนปลายจะต้องสร้างแก้มลิงบริเวณใต้สวนสาธารณะจตุจักร
สำหรับขนาดของแก้มลิงนั้นอาจจะก่อสร้างให้สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ความลึกประมาณ 15-20เมตร ก็คาดว่าจะเพียงพอต่อการรองรับน้ำ และใช้เงินลงทุนไม่มาก
ขณะที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภายในซอยก็สามารถสร้างแก้มลิงใต้ดินขนาดเล็กได้เช่นกัน ความจุของแก้มลิงอาจจะอยู่ที่ประมาณ 500-600 ลบ.ม. ความลึกประมาณ4-5 เมตร ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการรองรับน้ำ อย่างไรก็ตามสจล.เห็นว่าการสร้างพื้นที่แก้มลิงใต้ดินนั้นจะเป็นการลำเลียงน้ำลงสู่แก้มลิงด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำในปริมาณมากเหมือนกับที่กทม.กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้หลักการสร้างแก้มลิงใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำนั้นเป็นแนวคิดที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากกายภาพของประเทศญี่ปุ่นต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3 เมตรโดยเมื่อดำเนินการแล้วพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสจล.เห็นว่าหากสามารถใช้หลักการเดียวกันได้จะทำให้กรุงเทพฯพ้นสภาวะปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างถาวร.-สำนักข่าวไทย