กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – หลากหลายสาเหตุที่ทำให้เมื่อฝนตกหนัก ระบายไม่ทัน จนเกิดน้ำท่วมขังกรุงเทพมหานคร หนึ่งในนั้นถูกพุ่งเป้าไปที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้กำลังก่อสร้างอยู่ใน 4 เส้นทาง และบางเส้นทางพาดผ่านย่านกลางใจเมือง ความกังวลทั้งเรื่องเศษวัสดุก่อสร้างที่ไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทางขึ้น-ลงสถานี หรือตอม่อที่สร้างขวางทางน้ำไหล หน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีคำตอบอย่างไร ติดตามจากรายงาน
เจ้าหน้าที่ รฟม. กำลังใช้แบ็กโฮขุดลอกลำรางสาธารณะ ริมถนนรามคำแหง แนวพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลำรางสาธารณะมีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีคลองบ้านม้า ไปจนถึงสถานีปลายทางมีนบุรี ซึ่งมีทั้งสถานีที่อยู่ใต้ดิน และสถานีที่อยู่บนดิน ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าเก็บถอนวัชพืชตามแนวลำราง เพื่อช่วยให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น หากมีฝนตก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และปัญหาจราจร บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง น้ำจากลำรางทั้ง 2 ฝั่งถนนจะไหลลงคลองสาขา ก่อนไหลลงสู่คลองแสนแสบ ซึ่งในช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำเคยเอ่อล้นขึ้นมาถึงตลิ่ง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีการขุดลอกท่อระบายน้ำ 2 จุด คือ บริเวณลำรางสาธารณะสถานีคลองบ้านม้าแห่งนี้ และสถานีรามคำแหง หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
แม่ค้าขายอาหารตามสั่งคนนี้ บอกว่า เปิดร้านมา 9 ปี หนักสุดที่เคยเจอ คือ น้ำท่วมปี 2554 น้ำท่วมขึ้นมาบนพื้นถนน ยอมรับว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเริ่มก่อสร้าง กังวลเรื่องปัญหาฝนตกน้ำท่วมขัง แต่จนถึงตอนนี้สบายใจขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยมาสอบถาม และขุดลอกแหล่งน้ำไม่ให้เกิดปัญหา
ด้านรองผู้ว่าการ รฟม. ให้ข้อมูลว่า นอกจากรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีอีก 3 สาย ที่มีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเช่นกัน อย่างสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีการลอกท่อระบายน้ำตลอดแนวถนนพหลโยธิน ก่อสร้างบ่อพัก และเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำทดแทนท่อระบายน้ำเดิมที่ได้รื้อย้ายระหว่างการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี
สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดวิกฤติบนถนนลาดพร้าว ทำความสะอาดพื้นที่และปากท่อระบายน้ำ ป้องกันการอุดตันของท่อ ส่วนสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เตรียมเครื่องสูบน้ำ และตรวจสภาพท่อ-ทางระบายน้ำต่อเนื่อง และทุกสายยังจัดทีมฉุกเฉิน รถลาก น้ำมันรถสำรอง ประจำจุดแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน เมื่อเกิดน้ำท่วมขัง หรือมีรถยนต์จอดเสีย
สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุนั่งร้านเหล็กในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มทับรถเสียหายบนถนนรามคำแหง รฟม.วางแนวทางป้องกัน โดยติดตั้งนั่งร้านให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น ส่วนบริเวณเส้นทางเดินรถด้านบนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้นำผ้าใบมากั้น ป้องกันเศษวัสดุก่อสร้างไหลตกลงมาบนถนนในช่วงที่มีฝนตกและลมพายุอีกด้วย. – สำนักข่าวไทย