กกต. 11 มิ.ย.-“ศรีสุวรรณ” แจงข้อมูลกล่าวหา “ธนาธร” ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 110-250 ล้านบาท มั่นใจพยานหลักฐานผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง หาก กกต.วินิจฉัยมีความผิด มีโทษปรับ-จำคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง ถูกยึดเงินเข้ากองทุนพัฒนาการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.30 น. วันนี้ (11 มิ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่สมาคมฯ ร้องเรียนให้ตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวน 110-250 ล้านบาท อันส่อที่จะขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
นายศรีสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเข้าให้ถ้อยคำ ตนได้ยืนยันว่าการให้เงินกู้ของนายธนาธร และการรับเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่เป็นการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 66 ที่ระบุว่าบุคคลจะบริจาคหรือให้ประโยชน์อื่นใดกับพรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทไม่ได้ ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินในระดับ 110-250 ล้านบาท น่าจะขัดต่อกฎหมาย หาก กกต.รับเรื่องไว้วินิจฉัยว่าเป็นไปตามคำร้องของสมาคมฯ นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ อาจจะมีความผิด โดยนายธนาธร อาจมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาทและโทษจำคุก รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ส่วนกรรมการบริหารพรรคอาจจะถูกถอดถอนยกชุด สำหรับวงเงินที่เกิน 10 ล้านบาทจะต้องตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองต่อไป
“วันนี้ กกต.พยายามซักถามผมว่าจะกล่าวหาใครอย่างไร ผมยืนยันว่าขอกล่าวหานายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้รับเงินกู้ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการให้ถ้อยคำ ส่วนหลักฐานมีเพียงข้อมูลจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งคำบรรยายของนายธนาธร ที่ได้พูดกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน นอกจากนี้ยังชี้ช่องให้ กกต.เสาะแสวงหาพยานหลักฐานอื่น เช่น บัญชีรับ-จ่ายของพรรคการเมือง ที่จะต้องประกาศให้สาธารณชนรับทราบ และส่งรายงานมายัง กกต.ภายใน 90 วันหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 หรือ 23 มิถุนายนนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าการได้เงินและการใช้จ่ายเงินของพรรคอนาคตใหม่เป็นไปตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดไว้หรือไม่ ยืนยันว่าเอกสารที่มายื่นให้กับ กกต.ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว” นายศรีสุวรรณ กล่าว
เมื่อถามว่า ใครจะเป็นผู้ชี้ขาดในประเด็นข้อกฎหมายว่าพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี 2550 และ 2560 แล้ว จะเห็นชัดว่าฉบับปี 2550 กำหนดไว้ในข้อสุดท้ายว่ารายได้ของพรรคการเมืองจะมาจากรายได้อื่น ๆ ซึ่งเป็นการกำหนดแบบปลายเปิด สามารถไปกู้ยืมหรือนำเงินมาจากแหล่งใดก็ได้ แต่ฉบับปี 2560 กำหนดไว้ชัดว่าไม่มีคำว่ารายได้อื่น ๆ ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน เมื่อกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น จะกระทำนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ถ้าทำถือว่ามีความผิด แตกต่างจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน อะไรที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้สามารถกระทำได้.-สำนักข่าวไทย