กรุงเทพฯ 13 พ.ค.- 3 การไฟฟ้า เดินหน้ามาตรการนำร่อง EERS ตั้งเป้าประหยัดไฟฟ้าในปี 62 กว่า 20 ล้านหน่วย ส่วนสมาร์ทซิตี้สถานีกลางบางซื่อ กฟผ.-กฟน.-ปตท.-รฟท.พร้อมร่วมมือพัฒนา
3 การไฟฟ้า ผนึกกำลังเดินหน้านำร่องมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน หรือมาตรการ EERS พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับพันธมิตรและผู้เข้าร่วมโครงการฯในวันนี้ ตั้งเป้าสามารถประหยัดไฟฟ้าในปี 2562 ได้กว่า 20 ล้านหน่วย ส่วนในปี 66 วางเป้าลดใช้ไฟฟ้าลง 210 ล้านหน่วย/ปี โดยมีหลากหลายโครงการเช่น กฟผ.ตั้งโครงการที่ปรึกษาพลังงาน เข้าให้คำปรึกษา ตรวจวัดการใช้พลังงาน ตั้งเป้าลดใช้ไฟฟ้ากว่า 10 ล้านหน่วย ,กฟน. มีโครงการล้างแอร์ลดโลกร้อน เป้าอย่างน้อย 4 ล้านหน่วย ขณะที่ กฟภ.มีโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และครัวเรือน น่าจะได้ลดใช้ไฟฟ้าประมาณ 6 ล้านหน่วย โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 Ranking หรือเบอร์ 5 ติดดาว จัดทำมาตรฐานการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าเดิม
ทั้งนี้ มาตรการ EERS เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards : EERS) โดยกำหนดให้ 3 การไฟฟ้า ดำเนินโครงการนำร่องในช่วงปี 2561 – 2565 เพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดแนวทางเป็นการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับในปี 2566 – 2579 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยแบ่งมาตรการดำเนินงานที่เหมาะสม 3 ประเภท ประกอบด้วย มาตรการให้คำปรึกษา ดำเนินงานในลักษณะที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทุกภาคส่วน มาตรการใช้แรงจูงใจทางการเงิน สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมาตรการลักษณะภาพรวม (Mass) ส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม
นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส กฟผ.ยังเปิดเผยด้วยว่า กฟผ. ร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) ,กฟน. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะร่วมกันพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆนี้
สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาและพัฒนา Smart City ในด้านพลังงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ.และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในด้านพลังงาน (Energy Digital Platform) มาประยุกต์ใช้ในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ล่าสุดได้คัดเลือกให้นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองเป็นต้นแบบดำเนินในโครงการ -สำนักข่าวไทย