สธ.24เม.ย.-สธ.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแพทย์พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อนส่งไปปฏิบัติงานชั่วคราวที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว20 เตียง ให้บริการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคใน ที่พักของผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ปี 2562 จำนวน 35 คน ประกอบด้วย แพทย์ 7 คน เภสัชกร 3 คน พยาบาลวิชาชีพ 20 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 5 คน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติงานในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 2 ก.ค.– 7 ก.ย.2562 สามารถให้บริการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมผู้แสวงบุญได้ตามมาตรฐานสากล
นพ.สุขุม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยสุขภาพผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งในปี 2562 มีจำนวน 8,370 คน ได้จัดระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ก่อนเดินทาง โดยอบรมให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีน คัดกรองความเสี่ยงสนับสนุนยาสามัญประจำบ้าน หน้ากากอนามัย จัดตั้งคลินิกฮัจย์ในสถานบริการสาธารณสุขและอบรมผู้นำกลุ่ม(แซะห์)ให้มีศักยภาพเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขฮัจย์ ในระหว่างประกอบพิธีฮัจย์ที่ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ได้ให้สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย หรือชื่อเดิม คือหน่วยพยาบาลไทย จัดโรงพยาบาลชั่วคราว ให้บริการตรวจรักษา ทำหัตถการและฉุกเฉิน ผู้ป่วยใน 20 เตียง และส่งต่อรักษา รวมทั้งให้บริการเชิงรุก ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถึงที่พักของ ผู้ประกอบพิธีฮัจย์ นอกจากนี้ ได้จัดระบบดูแลเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อผู้แสวงบุญทุกคนหลังเดินทางกลับภูมิลำเนา
“ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี อสม.ฮัจย์ ทำงานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยช่วยให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค ส่งผลให้การเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้แสวงบุญลดลง โดยตั้งแต่ปี 2550-2561 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน ในปี 2561 เหลือเพียง 6 ราย หรือลดลง 8 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีผู้เสียชีวิต 56 ราย” นพ.สุขุมกล่าว
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีชาวมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีชาวไทยมุสลิมประมาณ 13,000 คน จึงมีโอกาสเกิดโรคติดต่อได้ง่าย จากรายงานการให้บริการของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ให้การรักษาผู้แสวงบุญประมาณ 10,000 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ ส่งรักษาต่อในโรงพยาบาลราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียประมาณ 50 รายต่อปี ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด .-สำนักข่าวไทย