สธ.19 เม.ย.-รองปลัดฯ สธ.เผยการจำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วย-เจ้าหน้าที่ จำกัดเฉพาะรถพยาบาลฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง รพ.แต่ไม่รวมกู้ชีพ กู้ภัย เนื่องจากในรอบ 4 ปี พบปัญหารถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุมากถึง 110 ครั้ง บาดเจ็บ-เสียชีวิต 318 คน พร้อมชี้เหตุรุนแรง มีศูนย์สั่งการจัดรถพยาบาลเหมาะสม
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวชี้แจงกรณีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห้ามรถพยาบาลฉุกเฉินขับเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่า เป็นการห้ามในส่วนของรถพยาบาลฉุกเฉิน สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้มีการห้ามในส่วนของรถกู้ชีพ กู้ภัย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยการจำกัดความเร็วของรถพยาบาลฉุกเฉิน ไม่ได้กระทบต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยแน่นอน เนื่องจากระบบการดูแลและส่งต่อผู้ป่วย จะถูกประเมินโดยศูนย์สั่งการอยู่แล้ว รถพยาบาลฉุกเฉินจะใช้ในกรณีผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ เป็นการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาล ภายในรถมีแพทย์ พยาบาลอยู่ ฉะนั้นจึงเสมือนเป็นห้องฉุกเฉินอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำความเร็ว และเป็นการนัดหมายระหว่างโรงพยาบาล จึงไม่มีปัญหา
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่รถกู้ชีพ อาจเป็นรถกระบะของกู้ภัย มูลนิธิ ตรงนี้ไม่ได้ห้ามและทุกการช่วยเหลือผู้ป่วย มีการประเมินจากศูนย์สั่งการ ว่าผู้ป่วยแบบต้องการความช่วยเหลืออะไรรถถึงเหมาะสม กรณีเหตุหรืออุบัติเหตุใหญ่ จะใช้รถที่ใกล้ที่สุดไปรับตัวผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ และมีการประเมิน เพื่อส่งต่อให้รวดเร็ว โดยต้องถึงจุดเกิดเหตุในเร็วที่สุด และหากประชาชนทั่วไป ต้องการมีส่วนช่วยเหลือก็ให้หลีกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือ รถกู้ชีพ ที่ปฏิบัติหน้าที่และเปิดไซเรนเพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วและปลอดภัย ในกรณีจราจรติดขัด
นพ.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องออกมาจำกัดความเร็วรถพยาบาลฉุกเฉิน เนื่องจากในรอบ 4 ปี ทีผ่านมา ตั้งแต่ 2559-2562 มีรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุ รวม 110 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 318 คน เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 คน เสียชีวิต 4 คน พิการ 2 คน และเป็นผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 คน เสียชีวิต 3 คน และพบว่าเป็นผู้กรณีกับรถพยาบาลฉุกเฉิน เสียชีวิตอีก 14 คน
ทั้งนี้การกำหนดจำกัดความเร็วในรถพยาบาลฉุกเฉิน มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในรถเป็นสำคัญ และได้มีการเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิตหรือทุพลภาพถาวรเป็นคนละ 2,000,000 บาท สูงสุด 7 ที่นั่งอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าอุบัติเหตุในรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่ามีการใช้ความเร็วมากถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และประกันภัยในอดีต ครอบคลุมผู้โดยสารแค่ 5 ที่นั่งเท่านั้น .-สำนักข่าวไทย