กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ มอบนโยบาย สศก.ให้ทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อใช้วางแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศตามนโยบายตลาดนำการผลิต
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ครบรอบ 40 ปี โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลงตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมามุ่งเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยหลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่วางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน ทั้งนี้ สศก.จะต้องทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ของสินค้าเกษตรด้านต่าง ๆ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ศึกษาและวิจัยข้อมูลทางวิชาการด้านเศรษฐกิจการเกษตร ดังนั้น ต้องปรับแนวทางการทำงานให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสนับสนุนนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรให้ได้ตามบริบทของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกให้ได้
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สศก.ได้รับการสถาปนาจากกองเศรษฐกิจการเกษตรขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2522 ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาปฏิบัติภารกิจสำคัญร่วมขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานบูรณาการด้านการเกษตร การศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตร การจัดทำและวิเคราะห์เผยแพร่ให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศการเกษตร การจัดทำงบประมาณในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการกำหนดท่าทีเจรจาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศด้วย
ส่วนภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ขยายตัวต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ชะลอลงเป็นหลัก (มูลค่าการผลิตของสาขาพืชมีสัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตร) อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืชในไตรมาสแรกกลับมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก ด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย